Dos & Don’ts การทวงถามหนี้

โดย

 


 
Dos & Don’ts การทวงถามหนี้


     Dos
     ในการทวงถามหนี้ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติสอดคล้องกับที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 และ 10 ของพระราชบัญญัติดังนี้
     (1) การแสดงตน ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่า ตนได้รับสิทธิมาจากเจ้าหนี้ในการทวงถามหนี้
     (2) สถานที่ติดต่อ ให้ติดต่อเฉพาะสถานที่ที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ก่อน หากไม่สามารถติดต่อได้แม้จะพยายามแล้ว จึงให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ และสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าวในลำดับถัดมา
     (3) เวลาติดต่อ ต้องติดต่อภายใต้กรอบระยะเวลา ดังนี้
          (ก) กรณีวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.00 - 20.00 น.
          (ข) กรณีวันหยุดราชการ เวลา 8.00 - 18.00 น. หากติดต่อตามเวลาดังกล่าวไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ทำงานในช่วงเวลากะอื่น หรือกรณีที่ลูกหนี้หลีกเลี่ยงไม่รับหรือปิดโทรศัพท์ในช่วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะอื่น (ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงมหาดไทยฐานะผู้รับผิดชอบคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เสนอขอขยายระยะเวลาในการกำหนดประกาศกรอบระยะเวลาดังกล่าวในรายละเอียดเพิ่มเติมดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี นับภายหลังจากวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ดังนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการติดต่อเพิ่มเติมกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขวันธรรมดาหรือวันหยุดราชการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ)
     (4) จำนวนครั้งที่ติดต่อ คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ออกประกาศกำหนดจำนวนครั้งในการติดต่อทวงถามหนี้ ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้ได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อ 1 วันเท่านั้น ทั้งนี้ ข้อสังเกตหนึ่งที่เจ้าหนี้ควรรู้เกี่ยวกับการทวงถามหนี้ให้เป็นไปตามกรอบการทวงถามหนี้ในมาตรา 9 และมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติคือ หากผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกรอบที่กำหนดไว้ในทั้ง 2 มาตราดังกล่าว ยังไม่มีการกำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาไว้ภายใต้พระราชบัญญัติ มีเพียงโทษทางปกครองเท่านั้น

     Don’ts
     มาตรา 11 ของพระราชบัญญัติกำหนดข้อห้ามสำคัญที่ผู้ทวงถามหนี้ห้ามดำเนินการไว้ ดังนี้
     (1) ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการให้เสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ ไม่เช่นนั้นผู้ทวงถามหนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     (2) ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่ดูหมิ่น
     (3) การติดต่อลูกหนี้ โดยไปรษณียบัตร หรือวิธีการติดต่อสื่อสารอื่น ต้องไม่กระทำการให้เป็นการชัดเจนว่า เป็นการติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ เช่น ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายที่ใช้ติดต่อ ที่สื่อให้เข้าใจได้ว่า เป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นเป็นกรณีการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล หากผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการผิดข้อห้ามที่กำหนดไว้ในข้อ (2) ถึง (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     (4) ห้ามแสดงหรือกระทำการที่ทำให้เข้าใจว่า เป็นการติดต่อและการกระทำการโดยศาล เจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือสำนักงานทนายความ หรือเป็นการติดต่อที่ทำให้เชื่อว่า ลูกหนี้จะถูกดำเนินคดีหรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์ ไม่เช่นนั้นผู้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าวอาจต้องระวางโทษอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นกรณีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     (5) ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด ซึ่งตามประกาศของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กันยายน 2564 กำหนดไว้ที่อัตราดังนี้
          (ก) ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระ 1 งวด
          (ข) ไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด
          (ค) ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 1,000 บาท
    

  จากบทความ อัปเดตกฎหมายที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ควรรู้ Section: Laws & News / Column: Business Law
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 511 เดือนเมษายน 2567 หรือ
สมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba