สัมภาษณ์พิเศษ คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “บทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริม ผู้ประกอบการไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล"

โดย

 


 
สัมภาษณ์พิเศษ คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
“บทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริม
ผู้ประกอบการไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล"


       วารสารเอกสารภาษีอากรได้สัมภาษณ์พิเศษ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานในหลายหน่วยงานที่กระทรวงพาณิชย์ การพูดคุยในครั้งนี้เราจึงได้เห็นถึงบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน

       นโยบายสำคัญในปี 2567 ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยคือเรื่องใด ?

       งานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการสนับสนุนผู้ประกอบการแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1. ด้านการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ 2. ด้านส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อมเอสเอ็มอี (SMEs) ให้เข้มแข็งพร้อมแข่งขันได้ และ 3. ด้านธรรมาภิบาลเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

       ด้านการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ
       
เป็นงานที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้บริการผู้ประกอบการด้านการจดทะเบียนธุรกิจและข้อมูลธุรกิจ อาทิ การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด และจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด การออกหนังสือรับรอง เป็นต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีคลังข้อมูลธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจและการให้บริการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น สถิติการจดทะเบียนนิติบุคคล ข้อมูลนิติบุคคล ข้อมูลโอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจทางธุรกิจ

       ด้านส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี (SMEs) ให้เข้มแข็งพร้อมแข่งขันได้
       
ด้วยการให้ความรู้และเสริมทักษะที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออนไซต์ (On-site) โดยในส่วนของการเรียนรู้ผ่านทางออนไลน์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดบริการ “DBD Academy” ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาดอย่างครบวงจร สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเรียนรู้ใน 4 หลักสูตร รวม 34 วิชา คือ 1. หลักสูตรการเริ่มต้นธุรกิจ 2. หลักสูตรการเงินและบัญชี 3. หลักสูตรความรู้ด้าน e-Commerce และ 4. หลักสูตรการประกอบธุรกิจและภาษาอาเซียน ทั้งหมดเป็นหลักสูตรออนไลน์ (e-Learning) ที่ให้ความรู้พื้นฐานในการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการเรียนได้ฟรี และสำหรับปี 2567 นี้ DBD Academy จะมีการเพิ่มหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรการประกอบธุรกิจในกระแสการค้าโลกใหม่ เช่น มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวคิด BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ - Bioeconomy, เศรษฐกิจหมุนเวียน - Circular Economy  และเศรษฐกิจสีเขียว - Green Economy รวมถึงความรู้ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลถึงธุรกิจของไทย

       นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังเตรียมโครงการฝึกอบรมแบบพบปะตัวจริงระหว่างผู้สอนและผู้เรียน (On-site) หลายโครงการให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อหาตลาดใหม่ สร้างโอกาส และจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ

       งานส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs จึงถือเป็นงานสำคัญของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP ของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของไทยจาก 35.2% เป็น 40% ของ GDP ประเทศ ภายในปี 2570 กรมจึงมีการจับมือกับภาคส่วนต่าง ๆ พันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็ง และผลักดันให้เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาตินี้ประสบความสำเร็จ

       ด้านธรรมาภิบาลเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
       
ในปัจจุบันธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้จะช่วยให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้า คู่ค้า รวมถึงนักลงทุน ส่งผลให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นหากต้องการให้ธุรกิจยั่งยืนผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการและบริหารธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คือมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใส และรับผิดชอบ เป็นต้น

       กรมมีกองธรรมาภิบาลธุรกิจที่ช่วยกำกับดูแลและให้คำปรึกษาธุรกิจเรื่องธรรมาภิบาล นอกจากนี้ กรมยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีและการจัดทำบัญชี จึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชีในการส่งเสริมพัฒนาสำนักงานบัญชีและการควบคุมสำนักงานบัญชีให้มีมาตรฐาน รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งกรมให้ความสำคัญกับการตรวจสอบธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ กรมยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสวงหาข้อเท็จจริง และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนด้านนอมินีอีกด้วย

       จากงานหลัก 3 ด้านข้างต้น จะเห็นได้ว่ารองรับทุกขนาดธุรกิจอยู่แล้ว แต่ด้านส่งเสริมจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหลักเพราะผู้ประกอบการขนาดเล็กจะต้องการความช่วยเหลือมากกว่า โดยในปี 2567 นโยบายของรัฐบาลมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ด้วยนโยบาย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ฉะนั้น โครงการต่าง ๆ ของกรมจึงเน้นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยกรมเตรียมจัดงานมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และจะมีกิจกรรมส่งเสริมเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดให้ครบทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีโอกาสทางการตลาดผ่านพื้นที่ขายสินค้า สร้างโอกาสจับคู่ธุรกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งนี้ กรมยังได้ประสานงานกับสถาบันการเงินในการจัดแพ็กเกจปล่อยกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนไปสานต่อธุรกิจ รวมถึงจะเน้นอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ การให้บริการแนะนำขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เช่น โปรแกรมสำหรับจัดการบัญชี การบริหารสินค้าคงคลัง ทำภาษี เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการจัด Workshop งานสัมมนา และการจัดมหกรรมแฟรนไชส์เพื่อช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตได้มากขึ้น

 

  จากบทความ สัมภาษณ์พิเศษ คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
“บทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริม ผู้ประกอบการไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”
Section: Cover Story/ Column: Cover Story อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...
วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 509 เดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือสมัครสมาชิก
“วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
 
FaLang translation system by Faboba