แนวทางการยกระดับคุณภาพ แรงงานไทยรุ่นใหม่สู่สากล

โดย

 


 
แนวทางการยกระดับคุณภาพ
แรงงานไทยรุ่นใหม่สู่สากล


    เป็นโอกาสดีที่วารสาร HR Society ฉบับแรกของปีมังกรคะนอง 2567 มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ถึงภาพรวมของสถานการณ์ด้านแรงงานในประเทศไทย รวมถึงทิศทางการพัฒนาแรงงานไทยสู่สากล การอัปเดตด้านแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายทางด้านแรงงาน การช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล หรือแนวโน้มของตลาดแรงงานในปี 2567

    ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้วางนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในปี 2567 ว่า “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

    ทักษะดี : คือ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง รองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถการปฏิบัติงาน ซึ่งคนไทยที่ผ่านการฝึกพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงและมีมาตรฐานฝีมือ จะได้รับการจ้างงานที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนการ Up-Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ มีการผนึกกำลังจาก 4 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้ประกอบการ พัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตและยกระดับทักษะเยาวชนไทยให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีฝีมือตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    มีงานทำ : กระทรวงแรงงานมีการจัดทำบริการ One Stop Service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวแบบครบจบที่จุดเดียว เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งในปี 2567 นี้ จะมีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา เป็นการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

    หลักประกันทางสังคมเด่น : เรามีโครงการ Micro Finance สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของผู้ใช้แรงงาน มีโครงการกองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน ที่จะบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมเพื่อให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง มีโครงการ Best E-Service ประกันสังคมยุคใหม่ โดยการนำระบบ E-Claim มาใช้ในการรับจ่ายเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ ที่สำคัญมีการสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน โดยเร่งทบทวนปรับปรุง และพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ และอีกหนึ่งความท้าทายของตลาดแรงงานไทยก็คือ แรงงานจำนวนมากเรียนจบและทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา ซึ่งกระทรวงแรงงานเองก็ได้วางแผนและหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาระบบการแนะแนวเส้นทางอาชีพรวมถึงทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องการ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อประกอบอาชีพได้ตรงตามความต้องการและมีประสิทธิภาพ”

 

  บางส่วนจากบทความ : แนวทางการยกระดับคุณภาพแรงงานไทยรุ่นใหม่สู่สากล
โดย : กองบรรณาธิการ / Section : - / Column : Cover Story
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 253 เดือนมกราคม 2567

 
 
 
FaLang translation system by Faboba