ข้อหารือการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำ

โดย

 


 
ข้อหารือการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำ


     แม้ว่าพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จะกำหนดให้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” หมายความว่า “ราคาขายปลีกแนะนำที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าประสงค์ให้เป็นราคาขายต่อผู้บริโภคทั่วไป” แต่ในการตีความและการใช้กฎหมายก็ได้มีการหารือปัญหาข้อกฎหมายไปยังกรมสรรพสามิตในหลายกรณี โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำ จึงนำแนววินิจฉัยข้อหารือเกี่ยวกับการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำมาเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจกลไกการปรับใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตมากขึ้น

     การแก้ไขเพิ่มเติมราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำ

     ข้อเท็จจริง
     
บริษัท B ผู้นำเข้าสินค้าสุราแช่ประเภทไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกินกว่า 1,000 บาท) ชื่อสุรา BBB เข้ามาในราชอาณาจักร บริษัท B ได้แจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำตามแบบแจ้งราคาขายปลีกแนะนำ (ภส.02-01) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ให้มีราคาขายปลีกแนะนำขวดละ 990 บาท โดยบริษัท B ได้รับใบอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร (ภส.08-02) ที่ออกให้โดยสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งข้อมูลในใบอนุญาตระบุว่าสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรมีราคาขายปลีกแนะนำขวดละ 990 บาท ต่อมาบริษัท B ได้ยื่นแบบแจ้งราคาขายปลีกแนะนำ (ภส.02-01) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เพื่อแจ้งเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำสำหรับสุรารายการดังกล่าวเป็นขวดละ 925.23 บาท โดยให้เหตุผลว่าแจ้งราคาคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่บัญชีของบริษัท พนักงานศุลกากร ณ ด่านที่นำเข้าไม่ตรวจปล่อยเนื่องจากราคาไม่ตรงกับใบอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร จึงให้ไปติดต่อกรมสรรพสามิต ในขณะที่เจ้าพนักงานสรรพสามิตเห็นว่าสุราเป็นสินค้าที่ต้องได้รับใบอนุญาต เมื่อใบอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรระบุว่าสุราที่นำเข้ามีราคาขายปลีกแนะนำขวดละ 990 บาท ก็ต้องเสียภาษีตามราคาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำเป็น 925.23 บาทได้ จึงมีประเด็นหารือว่าบริษัท B สามารถแก้ไขเพิ่มเติมราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำสำหรับสินค้าสุราเป็นขวดละ 925.23 บาท ได้หรือไม่ และจะต้องใช้ราคาขายปลีกแนะนำราคาใดเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต

     แนววินิจฉัย
     กรมสรรพสามิตพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ “เพื่อประโยชน์ในการกำหนดมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 17 (1) ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าแจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำต่ออธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด” และมาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติให้ “ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำที่แจ้งไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำต่ออธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด” ซึ่งอธิบดีได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำไว้ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำและราคาค่าบริการ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมสรรพสามิตฯ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560
     ด้วยเหตุนี้ การแจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าแล้วแต่กรณีที่จะต้องแจ้งเพื่อประโยชน์ในการกำหนดมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณภาษีสำหรับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตจากมูลค่าราคาขายปลีกแนะนำตามความในมาตรา 17 (1) การที่กฎหมายใช้ถ้อยคำว่าเพื่อประโยชน์ในการกำหนดมูลค่าที่ใช้ในการ “คำนวณภาษี” ย่อมหมายความว่าการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณภาษีเพื่อนำไปสู่การยื่นแบบรายการภาษีและการชำระภาษีตามความในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ต่อไป ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ยังคงอยู่ในระบบประเมินตนเอง ทั้งนี้ เมื่อได้มีการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีในระบบประเมินตนเองดังกล่าวแล้ว หากปรากฏว่าราคาขายปลีกแนะนำที่แจ้งไว้นั้นไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจตามความในมาตรา 89 (2) ที่จะประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมายของการใช้อำนาจในระบบประเมินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ต่อไป
     ดังนั้นแม้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าจะได้แจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำตามความในมาตรา 18 วรรคหนึ่งไว้แล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิที่จะแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำตามความในมาตรา 18 วรรคสอง หรือแก้ไขเพิ่มเติมราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำที่แจ้งไว้ดังกล่าวได้ แม้ข้อเท็จจริงตามข้อหารือจะปรากฏว่าบริษัท B ได้แจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำตามความในมาตรา 18 วรรคหนึ่ง สำหรับสินค้าสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรขวดละ 990 บาท และได้มีการระบุราคาขายปลีกแนะนำนั้นไว้ในใบอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย แต่มูลค่าราคาขายปลีกแนะนำที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ก็เป็นเพียงข้อมูลรายการและรายละเอียดของสินค้าสุราในเบื้องต้นที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยระบบใบอนุญาตตามความในมาตรา 154 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เท่านั้น มิได้ส่งผลให้บริษัท B ผู้นำเข้าไม่สามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำ หรือไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำให้แตกต่างไปจากมูลค่าที่ระบุไว้ในใบอนุญาตแต่อย่างใด กรณีตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ บริษัท B ผู้นำเข้าจึงยังคงมีสิทธิที่จะแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำตามความในมาตรา 18 วรรคสอง หรือแก้ไขเพิ่มเติมราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำสำหรับสินค้าสุราเป็นขวดละ 925.23 บาทได้ กรมสรรพสามิตจึงต้องรับราคาขายปลีกแนะนำ 925.23 บาท ของบริษัท B ไว้เป็นมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณภาษีสรรพสามิตต่อไป

 

  จากบทความ : “ข้อหารือเกี่ยวกับการแจ้งราคาขายปลีกแนะนำ (SRP)”
  Section: Tax Talk / Column: Excise Tax อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...
  วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 507 เดือนธันวาคม 2566 หรือสมัครสมาชิก
  “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index 

 
 
 

 

FaLang translation system by Faboba