บริการที่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี ไม่ได้รับสิทธิอัตราร้อยละ 0

โดย

 


 
บริการที่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี
ไม่ได้รับสิทธิอัตราร้อยละ 0

    การให้บริการแก่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี (Freetrade Zone) ผู้ให้บริการจะได้สิทธิประโยชน์ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่นั้น ผู้ให้บริการไม่ใช่เพียงแต่จะมีการดำเนินการใด ๆ อันเกี่ยวกับการให้บริการแก่ผู้รับบริการเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาว่า การให้บริการนั้นเป็นการให้บริการที่กระทำต่อตัวสินค้าเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตประกอบการเสรีเพื่อส่งออกหรือไม่
    ผู้ประกอบการในราชอาณาจักรที่ได้ให้บริการแก่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี มักเข้าใจว่าตนจะได้รับสิทธิในภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 สำหรับการให้บริการดังกล่าวทุกกรณี
    ในความเข้าใจดังกล่าวอาจมีส่วนถูกต้องบางส่วน คือ การให้บริการแก่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี ถือเป็นการส่งออกบริการตามประมวลรัษฎากร แต่ส่วนสำคัญ คือ การพิจารณาเงื่อนไขตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร กล่าวคือ การให้บริการนั้นเป็นการให้บริการที่กระทำต่อตัวสินค้าเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตประกอบการเสรี เพื่อส่งออกหรือไม่ หากไม่เข้าลักษณะดังกล่าว ผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี มิเช่นนั้นต้องรับผิดในเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
    การให้บริการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมูลค่าเพิ่มมีหลายประการ เช่น
    1. การให้บริการก่อสร้างให้แก่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี
    กรณีบริษัทผู้รับเหมาได้รับค่าจ้างเหมาก่อสร้างและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างจากบริษัทผู้ว่าจ้างซึ่งอยู่ในเขตปลอดอากร เมื่อบริษัทผู้รับเหมานำเครื่องจักรหรืออุปกรณ์การก่อสร้างเข้าไปในเขตปลอดอากร โดยเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ดังกล่าวได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ถือเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1 (14) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับสิทธิในภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่สำหรับการให้บริการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้รับเหมามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการให้บริการในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทผู้ว่าจ้าง ตามมาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ การให้บริการดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 เนื่องจากไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในเขตปลอดอากรเพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เพราะการรับเหมาก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในโครงการในเขตปลอดอากร มิได้กระทำต่อตัวสินค้าและมีการส่งออกสินค้านั้น หรือการให้บริการมิได้ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่างเพื่อผู้รับบริการในเขตปลอดอากรนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกแต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/พ./6317 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2548 และหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/พ./4502 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2549)

    2. การให้บริการระบบสาธารณูปโภค
    บริษัท จ. เป็นผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร บริษัท จ. ได้จัดให้มีระบบสาธารณูปโภคแก่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร เช่น การให้บริการโทรศัพท์ บริการสาธารณูปโภค หรือบริการอื่น ๆ การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท จ. อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการให้บริการดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่เป็นการให้บริการที่กระทำต่อตัวสินค้าและมีการส่งออกสินค้านั้น หรือการให้บริการมิได้ก่อให้เกิดสินค้ามีรูปร่างเพื่อผู้รับบริการในเขตปลอดอากรนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543

 

  จากบทความ “บริการในเขตประกอบการเสรี อย่างไรได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีมูลค่าเพิ่ม”
  Section: Tax Talk / Column: Tax How to
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 504 เดือนกันยายน 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba