“ใบกำกับภาษี” เอกสารที่สำคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดย

 


 
“ใบกำกับภาษี” เอกสารที่สำคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

     ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออก “ใบกำกับภาษี” พร้อมส่งมอบให้กับผู้ซื้อทันทีที่จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น “ใบกำกับภาษี” จึงเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเอกสารในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่สำคัญต่อผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

     กรณีของการขายสินค้า ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อในทันทีที่มีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ ไม่ว่าจะได้รับชำระเงินหรือไม่ก็ตาม
     กรณีของการให้บริการ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีต่อเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ
     อย่างไรก็ดี กิจการให้บริการอาจออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระค่าบริการก็ได้ แต่จะทำให้ผู้ให้บริการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ก่อนกำหนด
     ใบกำกับภาษีต้องจัดทำอย่างน้อย 2 ฉบับ ต้นฉบับส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ส่วนสำเนาผู้ประกอบการต้องเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษีขายตามมาตรา 87/3 ในการออกใบกำกับภาษีจะต้องออกเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการและผู้นำเข้าต้องเรียกใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่น (ใบกำกับภาษีซื้อ) ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ
     “ใบกำกับภาษี” ยังหมายความรวมถึง ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นตามมาตรา 83/5 และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (22))
     ดังนั้นในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม “ใบกำกับภาษี” จึงมีทั้งใบกำกับภาษีขายและใบกำกับภาษีซื้อ ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (17) และ (18) ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
     “ภาษีขาย” หมายความว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามมาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียในกรณีที่เป็นการขายสินค้าตาม (ง) (จ) (ฉ) หรือ (ช) ของ (8) หรือในกรณีที่เป็นการให้บริการตาม (10) แต่ไม่รวมถึงภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 82/16
     “ภาษีซื้อ” หมายความว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตามมาตรา 82/4 วรรคสี่ และให้หมายความรวมถึง
     (ก) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เสียเมื่อนำเข้าสินค้า
     (ข) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เสียเนื่องจากได้รับโอนสินค้านำเข้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรตามมาตรา 82/15
     (ค) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งตามมาตรา 83/5 มาตรา 83/6 และมาตรา 83/7

 

  จากบทความ : “ภาษีซื้อและภาษีซื้อต้องห้าม”
  โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร Section : Tax Talk / Column : Tax & Accounting
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 237 เดือนกันยายน 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba