Asean CPA โอกาสที่เปิดกว้างของนักบัญชี

โดย

 


 
Asean CPA โอกาสที่เปิดกว้างของนักบัญชี

    ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) พร้อมกันกับประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศ ตั้งแต่สิ้นปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา โดยมียุทธศาสตร์การก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่สำคัญ คือ การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีความเท่าเทียมกันในทุกด้าน และบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยหนึ่งในความร่วมมือเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการเสรีเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ตลาดเดียวกันคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานในสาขาวิชาชีพบัญชี
    อย่างไรก็ดี ด้วยอุปสรรคทางด้านกฎหมายท้องถิ่น ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และความเข้าใจระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม เช่น คุณสมบัติของนักบัญชีหรือผู้สอบบัญชีที่ต้องมีการสอบเพื่อรับใบอนุญาตวิชาชีพ หรือการกำกับสมาชิกของหน่วยงานตามกฎหมาย ความเข้าใจทางด้านภาษาไทยหรือหน้าที่ตามกฎหมายของไทย เช่น พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ตลอดจนรัฐธรรมนูญไทย สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันในสาขาบัญชี (ASEAN Mutual Recognition Arrangement Framework on Accountancy Services) MRA Framework กับหน่วยงานในกลุ่มประเทศสมาชิกโดยมีวัตถุประสงค์คือ การอำนวยความสะดวกในการประกอบวิชาชีพบัญชีภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและยกระดับการให้บริการบัญชี ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งเสริมและสร้างแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในมาตรฐานและคุณสมบัติ นั่นหมายความว่าด้วยหลักการนี้ นักบัญชีสัญชาติไทยสามารถเดินทางไปประกอบอาชีพด้านบัญชีในประเทศกลุ่มอาเซียนได้ และในมุมกลับกันนักบัญชีในประเทศอาเซียนก็มาประกอบอาชีพด้านบัญชีในประเทศไทยได้เช่นกัน ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2560 สภาวิชาชีพบัญชีฯ ได้เริ่มมีการประชาสัมพันธ์และรับขึ้นทะเบียนนักบัญชีวิชาชีพอาเซียน (ASEAN CPA) เป็นต้นมา
    ปัจจุบันขอบเขตงานบริการบัญชีภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน (MRA) ที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพบัญชีได้อย่างเสรี อยู่ภายใต้เงื่อนไขการจัดประเภทผลิตภัณฑ์กลาง (Central Product Classification) ของสหประชาชาติซึ่งครอบคลุมงานบริการที่เกี่ยวข้องกับบัญชี แต่ไม่รวมการลงนามในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและการให้บริการทำบัญชีอื่นที่ต้องมีใบอนุญาตภายในประเทศ และแม้ว่างานด้านวิชาชีพที่ไปทำงานได้ยังคงมีข้อจำกัดบ้างแต่ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ตัวอย่างงานที่นักบัญชีวิชาชีพอาเซียนทำได้ อาทิ ผู้ช่วยนักบัญชี เจ้าหน้าที่การเงิน งานตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยง การวิเคราะห์และการจัดการข้อมูล ที่ปรึกษาธุรกิจ อาจารย์ วิทยากรด้านบัญชี หรือร่วมงานในบริษัทตรวจสอบบัญชีได้ไม่ว่าในฐานะผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีหรือตำแหน่งอื่น ๆ ในโครงสร้างของสำนักงาน เช่น ระดับผู้จัดการ ผู้อำนวยการ แต่ไม่อาจลงนามในฐานะผู้สอบบัญชีได้ เว้นแต่สามารถขอรับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับในประเทศสมาชิกนั้นได้ จึงนับเป็นโอกาสที่นักบัญชีไทยจะได้เพิ่มศักยภาพ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับตนเองทั้งทางด้านวิชาชีพ ตลอดจนการได้เรียนรู้สังคม วัฒนธรรม แนวคิดทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ กระทั่งเป็นการเสริมสร้างมุมมองทางด้านวิชาชีพให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และนำเอาประสบการณ์และองค์ความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับสำนักงานในไทยหรือใช้ในการให้บริการกับลูกค้าในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นลูกค้าไทยหรือต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่างาน ค่าตอบแทนของวิชาชีพที่คุ้มค่ามีสมดุล และเป็นการช่วยยกระดับวิชาชีพบัญชีในประเทศไทยและประเทศสมาชิกให้ทัดเทียมกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยเหตุว่าปัจจุบันโอกาสของนักบัญชีวิชาชีพอาเซียนมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้รับบริการที่มีการลงทุนข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ รวมถึงในประเทศสมาชิก ดังนั้นแล้วการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ก็จะเป็นไปอย่างถูกกฎหมายและสะดวกยิ่งขึ้น

    การเตรียมพร้อมเป็น ASEAN CPA
    การจะเป็น ASEAN CPA คุณสมบัติที่สำคัญอันดับแรกคือ มีสัญชาติอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิก และมีคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้ (อ้างอิงจากระเบียบสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยการขึ้นทะเบียนนักบัญชีวิชาชีพอาเซียน (ASEAN Chartered Professional Accountant) พ.ศ. 2559)
    1. เป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญ
    2. หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีสะสมอย่างน้อย 3 ปี ภายในระยะเวลา 5 ปี ในช่วงเวลาใดก็ได้
    3. ผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่สภาวิชาชีพบัญชีฯ กำหนด หรือมีใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ยังไม่สิ้นผลหรือถูกพักใช้
    4. มีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพที่สภาวิชาชีพบัญชีฯ กำหนด
    5. ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจรรยาบรรณตามมาตรา 49 (3) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547
    6. ไม่เคยต้องโทษจรรยาบรรณตามมาตรา 49 (4) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547
    
    จากคุณสมบัติข้างต้นผู้ที่มีใบอนุญาตผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชีนั้นสามารถขอขึ้นทะเบียนได้ทันทีเพราะมีคุณสมบัติครบถ้วน (แต่ไม่รวมผู้สอบบัญชีภาษีอากร เนื่องจากผู้สอบบัญชีภาษีอากรไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการฝึกงานในวิชาชีพ) ในขณะที่ผู้ที่สนใจหรือนักบัญชีทั่วไปต้องผ่านการทดสอบความรู้จำนวน 4 วิชา ได้แก่ 1. วิชาการรายงานทางการเงิน 2. วิชาการกำกับดุูแลความเสี่ยงและจรรยาบรรณ 3. วิชากฎหมายธุรกิจและภาษีอากร 4. วิชาการบัญชีบริหารและการบริหารการเงิน กรณีนี้จึงเป็นทางเลือกและโอกาสของการมีใบอนุญาตการทำงานในต่างประเทศในฐานะนักบัญชีวิชาชีพอาเซียน และเป็นทางเลือกของผู้ประกอบอาชีพบัญชีในปัจจุบันที่จะคว้าโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ และมีโอกาสที่จะได้นำประสบการณ์กลับมาถ่ายทอดและปรับใช้ในอนาคต นอกเหนือไปจากการสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

 

  จากบทความ : “Journey to Asean CPA เส้นทางสู่นักบัญชีอาเซียน”
  โดย : วิทยา เอกวิรุฬห์พร Section : Accounting Style / Column : CPD Talk
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 237 เดือนกันยายน 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba