รู้จัก 2 ประเภทของการตกแต่งบัญชี

โดย

 


 
รู้จัก 2 ประเภทของการตกแต่งบัญชี

      การตกแต่งบัญชี คือ กระบวนการที่ฝ่ายบริหารผู้มีอำนาจร่วมมือกับฝ่ายบัญชีให้ปรับแต่งตัวเลขทางบัญชีโดยเจตนา ซึ่งอาจอาศัยช่องโหว่ของหลักการบัญชีหรือทางเลือกต่าง ๆ ในการวัดมูลค่าและการเปิดเผยข้อมูลทางการบัญชี เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลในงบการเงินให้เป็นไปตามที่ต้องการจะให้เป็น หรือใช้อำนาจสั่งการโดยมอบหมายให้ฝ่ายบัญชีดำเนินการให้เป็นไปตามต้องการ การตกแต่งบัญชีจึงเป็นการฉ้อฉลทางการบัญชีที่สร้างภาพให้ผู้ใช้งบการเงินเห็นว่ากิจการดำเนินการมีผลที่ดี ฐานะการเงินดี ซึ่งเป็นการนำเสนอรายงานทางการเงินที่หลอกลวงทำให้ผู้ใช้งบการเงินหลงผิดและเข้าใจผิด

      การตกแต่งบัญชีหากจำแนกโดยใช้หลักเกณฑ์จะพิจารณาได้ดังนี้
เกณฑ์ที่ 1 มาตรฐานการรายงานทางการเงิน
      แบ่งประเภทออกเป็น 2 ประเภท คือ
      1. การตกแต่งบัญชีภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เป็นการตกแต่งบัญชีที่ผู้บริหารยังคงรับผิดชอบตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและกฎหมายว่าด้วยการบัญชี แต่เป็นการปฏิบัติที่ไม่สุจริตโดยมีเจตนาใช้ช่องโหว่ของมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง กล่าวคือ การใช้ช่องทางที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินสามารถทำได้โดยผู้บริหารใช้ดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้อง จะด้วยตัวผู้บริหารเองหรือได้รับการร่วมมือจากฝ่ายบัญชีในการเลือกใช้วิธีการ โดยอาศัยปัจจัย 2 อย่างคือ
            1) การเลือกวิธีปฏิบัติทางการบัญชีที่ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด เช่น ประมาณอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ ประมาณหนี้สงสัยจะสูญ หรือการด้อยค่าของลูกหนี้การค้า เป็นต้น
            2) การเลือกทำให้เกิดรายการที่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด เช่น ขายสินค้าเป็นเงินสดหรือเป็นเงินเชื่อ การบำรุงรักษาหรือการไม่บำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยการทำรายการเสมือนจริง เป็นต้น
            การตกแต่งบัญชีภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน สามารถแบ่งระดับเป็น 3 ประเภทย่อย คือ
                  1.1 การบัญชีแบบระมัดระวัง (Conservative Accounting) เป็นวิธีปฏิบัติทางการบัญชีที่ทำให้กำไรสูงขึ้น เช่น ประมาณอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ให้ยาวขึ้นเป็น 10 ปี ทำให้ค่าเสื่อมราคาต่ำ เป็นต้น
                  1.2 การบัญชีแบบเป็นกลาง (Neutral Accounting) เป็นวิธีปฏิบัติการทางบัญชีที่ทำให้กำไรมีสภาพปกติทั่วไป เช่น ประมาณอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ 5 ปีดังที่ทุกกิจการใช้ โดยไม่คำนึงว่าสินทรัพย์นั้นมีอายุมากกว่า 5 ปี
                  1.3 การบัญชีแบบกล้าได้กล้าเสีย (Aggressive Accounting) เป็นวิธีปฏิบัติทางการบัญชีที่ทำให้กำไรมีคุณภาพต่ำ เช่น ประมาณอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์น้อยกว่าความจริงทำให้ค่าเสื่อมราคาสูง, ขายสินค้าเป็นเงินเชื่อที่ให้เวลาสินเชื่อยาวนานทำให้ยอดขายสูง

      2. การตกแต่งบัญชีที่ผิดมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เป็นการจัดการที่ผู้บริหารมีเจตนาจงใจปฏิบัติให้ผิดไปจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินหรือละเมิดกฎหมายว่าด้วยการบัญชี เป็นการทุจริต ปกปิดข้อเท็จจริง หรือบิดเบือนความจริงอย่างเป็นสาระสำคัญ เรียกว่า การบัญชีแบบทุจริต (Fraudulent Accounting) ซึ่งอาจมีฝ่ายบัญชีให้ความร่วมมือ
      สมาคมผู้ตรวจสอบการทุจริตรับอนุญาต (The Association of Certified Fraud Examiners : ACFE) จัดประเภทการทุจริต (Fraud) เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
      1) การใช้สินทรัพย์อย่างไม่เหมาะสม (Asset Misappropriation) หมายถึง การขโมยสินทรัพย์ขององค์กร เช่น ยักยอกเงินสด การลักขโมยสินค้า เป็นต้น
      2) การรายงานการเงินที่เป็นเท็จ (Fraudulent Financial Reporting) หมายถึง ข้อมูลในงบการเงินเป็นเท็จอย่างตั้งใจ เช่น การแสดงยอดรายได้สูงกว่าความเป็นจริง เป็นต้น จัดเป็นการตกแต่งบัญชีที่ผิดมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
      3) การฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption) หมายถึง การใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานในองค์กรไปในทางที่ผิดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น การรับสินบน (เงินที่ได้รับจากผู้ขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับองค์กรสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายรายนั้น) เป็นต้น

เกณฑ์ที่ 2 ลักษณะของการจัดการกำไร
      ฮิลเซ็นราท (Hilzenrath. 2002) ได้จัดประเภทของการจัดการกำไรในงบการเงินและรายงานการเงินตามลักษณะของการจัดการกำไร หรือเรียกย่อว่า 3 M ประกอบด้วย 1. การฉ้อฉล (Manipulation) 2. การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริง (Misrepresentation) และ 3. การเลือกใช้อย่างไม่ถูกต้อง (Misapplication) มีรายละเอียดดังนี้
      1. การฉ้อฉล (Manipulation) เป็นการปรับแต่ง เปลี่ยนแปลง หรือทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงทางด้านการบันทึกบัญชีหรือในเอกสารประกอบการลงบัญชี และมีผลทำให้งบการเงินหรือรายงานการเงินแสดงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
      2. การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริง (Misrepresentation) เป็นการเจตนาหรือจงใจที่จะนำเสนองบการเงินหรือรายงานการเงินให้ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง เรียกว่า การรายงานการเงินที่เป็นเท็จหรืออย่างทุจริต (Fraudulent Financial Reporting) ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
            2.1 ปกปิด หรือละเว้น หรือไม่นำเสนอเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจหรือข้อมูลที่สำคัญบางส่วน
            2.2 บิดเบือนหรือนำเสนอเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจหรือข้อมูลที่สำคัญอย่างไม่ถูกต้อง
      3. การเลือกใช้อย่างไม่ถูกต้อง (Misapplication) เป็นการเลือกใช้วิธีปฏิบัติทางการบัญชีอย่างไม่เหมาะสมในการวัดมูลค่า การจัดประเภทรายการ การนำเสนอ และการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินหรือรายงานการเงิน
      การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงและการเลือกใช้อย่างไม่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเข้าข่ายเป็นการทุจริต

 

  จากบทความ “การตกแต่งบัญชี เรื่องที่ไม่ควรทำ” Section: Smart Accounting / Column: Accounting Update
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 504 เดือนกันยายน 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba