หลักการยื่น ภ.ง.ด.51

โดย

 


 
หลักการยื่น ภ.ง.ด.51


    เดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนสุดท้ายของการยื่นประมาณ ภ.ง.ด.51 (ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปกติ (อ้างอิง มาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร) เป็นส่วนหนึ่งตามตารางเวลา ตามหน้าที่ที่นักบัญชีควรระมัดระวังไม่เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งข้อผิดพลาดจะเกิดขึ้นและมีผลต้องรับผิดหรือไม่ ก็จะไปปรากฏตอนผลการดำเนินงานประจำปี ในหลักการที่ว่า “การยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิ ขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 - บางส่วนตามมาตรา 67 ตรี ”
    ก่อนอื่นเรามาทบทวนหลักการของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี หรือ ภ.ง.ด.51 ซึ่งกรมสรรพากรกำหนดอยู่ 2 ประเภท คือ
    1. เสียจากกำไรสุทธิในรอบ 6 เดือน (ตามจริง)
        • บริษัทจดทะเบียน
        • ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์
        • ผู้ได้รับอนุมัติให้มีผู้สอบทานงบการเงิน
    ข้อสังเกต : ถ้านิติบุคคลเลือกประเภทที่ 1 ถึงแม้จะยุ่งยากในการต้องจัดทำงบการเงิน และต้องสอบทานงบการเงินเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการนำยื่นภาษี ก็จะไม่มีประเด็นต้องกังวลในเรื่องผลกระทบจากการประมาณการผิดพลาด เหตุผลเนื่องจากเป็นการเสียภาษีจากกำไรสุทธิในรอบ 6 เดือนตามจริง
    2. เสียจากกึ่งหนึ่งจากประมาณการกำไรสุทธิ
    • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น
    ข้อสังเกต : การยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.51 โดยเลือกเสียจากกึ่งหนึ่งจากประมาณการกำไรสุทธินั้น ประเด็นที่ควรระมัดระวังคือ ประการที่ 1 ประมาณการผิดพลาดได้ไม่เกิน 25% ของกำไรสุทธิ และประการที่ 2 คำว่า กำไรสุทธินั้น นักบัญชีต้องไม่ลืมว่าคือกำไรสุทธิทางภาษี ไม่ใช่กำไรสุทธิทางบัญชี

    ตัวอย่างประมาณการ ภ.ง.ด.51
    อย่างไรจึงเรียกว่าเกิน 25% และต้องเสียเงินเพิ่ม 20% ของภาษีที่นำส่งขาด
    กรณีตัวอย่าง

  ประมาณการกำไรทั้งปี 20,000 บาท
  ประมาณการครึ่งปี 10,000 บาท
  ภาระภาษีครึ่งปีที่คำนวณได้ สมมุติ 30% 3,000 บาท
  มีเงินภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย 2,000 บาท
  ฉะนั้น เงินนำส่งภาษีครึ่งปี เพิ่ม 1,000 บาท

 

    สรุป : ในแบบ ภ.ง.ด.51 จะถือว่ายื่นประมาณการกำไรไว้ 20,000 บาท และมีภาระภาษีครึ่งปี 3,000 บาท แต่มีนำเงินส่งภาษีครึ่งปี 1,000 บาท เนื่องจากมีภาษีถูกหักไว้ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. ไว้ 2,000 บาท

    พิจารณา

1   หากสิ้นปีปรากฏว่า กำไรจริงทั้งปี 30,000 บาท
2   กำไรครึ่งปีควรจะเป็น 15,000 บาท
3   ดังนั้นภาระภาษีครึ่งปี ควรจะเป็น (30%) 4,500 บาท
4   หัก ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย 2,000 บาท
5   เงินที่ควรนำส่งภาษีครึ่งปี 2,500 บาท

การเปรียบเทียบกำไรจริงกับกำไรประมาณการ  
    กำไรจริง - กำไรประมาณการ  =   30,000  -  20,000     =  10,000 บาท
    ประมาณการน้อยกว่าจริง =   (10,000/30,000) x 100    =  33%
    สรุป : ประมาณกำไรน้อยกว่ากำไรจริงเกิน 25 % จึงถูกปรับเงินเพิ่ม 20% ของเงินภาษีที่ส่งขาด
การคำนวณเงินเพิ่ม 20 %  
จากข้อ 5 เงินภาษีที่ควรนำส่งภาษีครึ่งปี ควรเป็น    2,500 บาท
แต่จากข้อ จ  ประมาณการครึ่งปี นำส่งเพียง    1,000 บาท
ดังนั้นนำส่งขาดไป    1,500 บาท

เงินเพิ่ม 20%  =  20/100 x 1,500 =      300 บาท


    ข้อแนะนำ
    ในกรณีนิติบุคคลมีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย และเมื่อประมาณการภาษี ภ.ง.ด.51 ยังมีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย คงเหลืออยู่ ควรพิจารณาเพิ่มกำไร โดยใช้ประโยชน์จากภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ส่วนที่เหลือ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจากประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ได้ (ขอย้ำอีกครั้ง ข้อควรระวัง! คำว่ากำไร คือ กำไรทางภาษี)


  จากบทความ : “ข้อควรระวัง ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51”
  โดย : Mr.knowing Section : Accounting Style / Column : CPD Coach
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 236 เดือนสิงหาคม 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba