ผลิตสุราเพื่อบริโภคในครัวเรือน ต้องขอใบอนุญาตหรือไม่

โดย

 


 
ผลิตสุราเพื่อบริโภคในครัวเรือน ต้องขอใบอนุญาตหรือไม่


     นอกจากกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 จะได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิตสุราเพื่อการค้าสำหรับสุราแช่และสุรากลั่น ทั้งโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ กฎกระทรวงนี้ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับ “การผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า” โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถผลิตสุราเพื่อดื่มกินเองเพื่อการบริโภคในครัวเรือนได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตก็ยังคงยืนยันในหลักการว่า สินค้าสุรามิได้เป็นเครื่องดื่มหรืออาหารทั่วไปที่สามารถบริโภคหรือทำกินเองได้อย่างอิสรเสรีแบบไร้ขีดจำกัด กฎหมายภาษีสรรพสามิตจึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าไว้เป็นการเฉพาะ

     ความหมายและขอบเขตของสุราที่มิใช่เพื่อการค้า
     กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ในบทนิยาม ข้อ 4 ได้กำหนดให้ “ผลิตสุราเพื่อการค้า” หมายความว่า “ผลิตสุราโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือเพื่อการอื่นใด โดยได้รับประโยชน์ตอบแทน ...”
     แม้กฎกระทรวงจะมิได้ให้คำนิยามของสุราที่มิใช่เพื่อการค้าไว้โดยตรง แต่จากคำนิยามข้างต้น ก็พอจะคาดเดาความหมายของสุราที่มิใช่เพื่อการค้าได้ว่า มีความหมายในทางตรงข้ามกับสุราเพื่อการค้า กล่าวคือ “ผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า” หมายความว่า “ผลิตสุราโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขาย มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน หรือมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน” โดยทั่วไปแล้ว สุราที่มิใช่เพื่อการค้าจึงต้องเป็นสุราที่ผลิตขึ้นเพื่อบริโภคในครัวเรือนนั่นเอง ดังนั้นหากนำสุราที่ผลิตขึ้นเองนั้นไปขาย แลกเปลี่ยน เพื่อการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน สุรานั้นก็ไม่เป็นสุราที่มิใช่เพื่อการค้าแต่อย่างใด

     จำเป็นต้องขอใบอนุญาตหรือไม่
     เนื่องจากสุราเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กฎหมายแม่บทฉบับนี้ได้กำหนดกลไกทางกฎหมายเกี่ยวกับสุราไว้เป็นการเฉพาะ โดยความในมาตรา 153 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุราต้องยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพสามิต ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งความในมาตราดังกล่าวใช้คำว่า “ผลิตสุรา” โดยมิได้แยกว่าเป็นการผลิตสุราเพื่อการค้าหรือมิใช่เพื่อการค้า กรณีเช่นนี้จึงส่งผลให้การทำ ประกอบ ปรับปรุง แปรรูป หรือแปรสภาพ หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าสุรา ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการผลิตสุราตามความในบทนิยามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อการค้าหรือไม่ ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ระบบใบอนุญาต” ทั้งสิ้น

     ด้วยเหตุนี้ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ข้อ 7 จึงกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหรือหลักฐานตามที่กำหนดในแบบคำขอต่ออธิบดี ผู้ที่จะผลิตสุราดังกล่าวได้จึงต้องมายื่นคำขอรับใบอนุญาต และต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายแล้วเท่านั้น แม้จะเป็นสุราที่มิใช่เพื่อการค้าซึ่งทำเพื่อดื่มเองที่บ้านก็จะต้องยื่นคำขออนุญาต และต้องได้รับใบอนุญาตผลิตสุราก่อนจึงจะทำการผลิตสุราได้

 

  จากบทความ : “เงื่อนไขผลิตสุราเพื่อบริโภคในครัวเรือน” Section: Tax Talk / Column: Excise Tax
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 502 เดือนกรกฎาคม 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร”
เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba