เรื่องของ “สิทธิเก็บกิน”

โดย

 


 
เรื่องของ “สิทธิเก็บกิน”


      สิทธิเก็บกิน หมายถึง สิทธิของบุคคลที่จะครอบครอง ใช้ และถือเอาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น(1) โดยสิทธิเก็บกินนี้ถือเป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะตัดทอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีอยู่ในทรัพย์สิน ให้โอนมาเป็นของผู้ทรงสิทธิเก็บกินเกือบทั้งหมด คงเหลือไว้เพียงสิทธิที่จะจำหน่ายทรัพย์สินไว้เท่านั้นที่ยังคงเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน ผลคือผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะมีสิทธิต่าง ๆ ที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มี ยกตัวอย่างเช่น
      1. สิทธิที่จะครอบครองทรัพย์สิน
      2. สิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สิน
      3. สิทธิที่จะถือเอาประโยชน์จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า
      4. สิทธิที่จะจัดการทรัพย์สิน
      5. สิทธิที่จะติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้
      6. สิทธิที่จะขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
      และเมื่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้สิทธิเก็บกินแก่ผู้ใดแล้ว เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็จะไม่มีสิทธิดังที่กล่าวมาในอสังหาริมทรัพย์นั้นอีก เสมือนได้โอนสิทธิต่าง ๆ ที่ตนมีในอสังหาริมทรัพย์ให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินทั้งหมด คงเหลือไว้เพียงสิทธิที่จะจำหน่ายทรัพย์สินไว้เท่านั้น(2)
      อนึ่ง สิทธิเก็บกินจะก่อให้เกิดขึ้นเหนืออสังหาริมทรัพย์(3) ใด ๆ ก็ได้ แต่จะก่อให้เกิดขึ้นเหนือสังหาริมทรัพย์(4) ไม่ได้
      การได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน
      สิทธิเก็บกินจะได้มาโดยทางนิติกรรมเท่านั้น ไม่สามารถได้มาโดยทางอื่นได้ ซึ่งการได้มาโดยทางนิติกรรมนี้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดิน หากไม่จดทะเบียนจะใช้บังคับได้เฉพาะคู่กรณี (เจ้าของที่ดินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกิน) ในฐานะบุคคลสิทธิเท่านั้น จะใช้ยันกับบุคคลภายนอกไม่ได้(5) และนิติบุคคลก็สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินได้ ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น(6)
      โดยสิทธิเก็บกินนี้จะก่อให้เกิดขึ้นโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิก็ได้
            • ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ กฎหมายให้สันนิษฐานว่ามีอยู่ตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิ
            • ถ้ามีกำหนดเวลาไว้ จะต้องไม่เกิน 30 ปี หากเกิน 30 ปี กฎหมายให้ลดลงมาเหลือ 30 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 ปี(7)

_____________________________________

[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1417
[2] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15033/2555
[3] อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน (โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง) อันมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น
[4] สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย
[5] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2542 (ประชุมใหญ่)
[6] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4074/2536
[7] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1418

  จากบทความ “สิทธิเก็บกิน” สิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์หรือวางแผนภาษี
  Section: Laws & News / Column: Business Law อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร
  ปีที่ 42 ฉบับที่ 502 เดือนกรกฎาคม 2566 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร”
  เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba