ความเท่าเทียมในเรื่องภาษีของชาวต่างชาติกับชาวไทย

โดย

 


 
ความเท่าเทียมในเรื่องภาษีของชาวต่างชาติกับชาวไทย


    บทบัญญัติของมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ผ่านมา มีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีที่ผ่านมาทั้งหมดมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในประเทศไทย ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด1 (โดยเงินได้พึงประเมินดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ใช่เงินได้พึงประเมินบางประเภทที่สามารถเลือกไม่ต้องนำมารวมคำนวณตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร) ซึ่งมาตรา 41 ดังกล่าว ใช้คำว่า “ผู้มีเงินได้พึงประเมิน” คำดังกล่าวเป็นคำกว้างและใช้บังคับกับผู้มีเงินได้ที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้นการจ้างชาวต่างชาติหรือชาวไทยให้ทำงานในประเทศไทยจึงใช้กฎหมายมาตราเดียวกันในการบังคับใช้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาวต่างชาติและชาวไทยมีความเท่าเทียมในการนำกฎหมายภาษีมาใช้

    ประเด็นสำคัญสำหรับมาตรา 41 คือ การนำบทบัญญัติมาปรับใช้กับข้อเท็จจริง โดยมีเป็นจำนวนมากที่ผู้จ่ายเงินให้กับชาวต่างชาติมักเข้าใจว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันในปีภาษี ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ความจริงแล้ว หากข้อเท็จจริงเข้าลักษณะการจัดเก็บภาษีตามหลักแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ชาวต่างชาติผู้รับเงินจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร เสมอ ไม่ว่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกี่วันก็ตาม เว้นแต่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศที่ผู้มีเงินได้มีถิ่นที่อยู่เท่านั้น2

    ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ของชาวต่างชาติ ให้พิจารณาบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนกรณีผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นชาวไทยทุกประการ เช่น เกณฑ์เงินได้ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ในปีภาษี3 สิทธิต่าง ๆ ทางภาษี เช่น สิทธิการนำค่าใช้จ่ายมาใช้ในการคำนวณภาษี สิทธิในการลดหย่อนตนเอง สิทธิลดหย่อนภริยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งสิทธิลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ ตามประมวลรัษฎากรกำหนดเหมือนกรณีผู้มีเงินได้เป็นชาวไทยทุกกรณีด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

    สำหรับการกรอกแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ของชาวต่างชาติ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรนั้น หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็นชาวต่างชาติ และไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย อีกทั้งไม่มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย กรณีดังกล่าวถือว่าคู่สมรสไม่มีเงินได้ ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสของตนได้จำนวน 60,000 บาท โดยให้
เลือกสถานะการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ของคู่สมรสว่า “ไม่มีเงินได้” และให้เลือกคำว่า “ต่างด้าว” โดยให้กรอกข้อมูลเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว และระบุสัญชาติ

    อย่างไรก็ดี กรณีผู้มีเงินได้ไม่ทราบเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว ให้ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีในรูปกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา


[1] การคำนวณเงินได้สุทธิ (Net Income) ของชาวต่างชาติ คำนวณเหมือนกรณีชาวไทย กล่าวคือ เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาค x อัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
[2] ศึกษารายละเอียดหลักแหล่งเงินได้จากวารสารเอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2564 เรื่อง เคลียร์ประเด็นภาษีตามหลักแหล่งเงินได้
[3] มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร

  จากบทความ “ชาวต่างชาติกับการจ่ายภาษีเงินได้” Section: Tax Talk / Column: Tax How to
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 500 เดือนพฤษภาคม 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba