สัญญาจำนำ

โดย

 


 
สัญญาจำนำ


    สัญญาจำนำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์1 คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้จำนำ” ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนำ” เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

    สัญญาจำนำเป็นสัญญาระหว่างบุคคล 2 คน คือ ผู้จำนำกับผู้รับจำนำ โดยผู้จำนำอาจเป็นลูกหนี้เองหรือเป็นบุคคลภายนอก (ไม่ได้เป็นลูกหนี้) ก็ได้ แต่ผู้จำนำจะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ หากต่อมาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้รับจำนำก็จะสามารถบังคับจำนำเอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล หากขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ กรณีผู้จำนำเป็นบุคคลภายนอกก็ไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป แต่ถ้าผู้จำนำเป็นตัวลูกหนี้เอง ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ที่เหลืออยู่

    สัญญาจำนำนั้นกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่มีสาระสำคัญคือ ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนำ
    ลักษณะของสัญญาจำนำ
    1. ผู้จำนำจะเป็นบุคคลภายนอก หรือบุคคลที่ 3 หรือเป็นลูกหนี้ก็ได้
    อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ เนื่องจากสัญญาจำนำซึ่งเป็นการประกันด้วยทรัพย์สิน เจ้าหนี้จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้น แม้ทรัพย์สินนั้นจะเปลี่ยนเจ้าของไปแล้วก็ตาม แต่จะไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำนำไม่ได้ ต่างจากสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ผู้ค้ำประกันจึงต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 เท่านั้น

    2. ทรัพย์สินที่จำนำต้องเป็นสังหาริมทรัพย์2
    หากเป็นอสังหาริมทรัพย์จะไม่สามารถจำนำได้

    3. ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำแก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
    การส่งมอบทรัพย์สินที่จะถือเป็นการจำนำนั้น จะต้องส่งมอบโดยมีเจตนาเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการจำนำ3

    4. สัญญาจำนำถือเป็นหนี้อุปกรณ์
    เนื่องจากสัญญาจำนำทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จึงต้องมีหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยหนี้ประธานนั้นจะเกิดขึ้นก่อน เกิดขึ้นหลัง หรือเกิดขึ้นพร้อมกับสัญญาจำนำก็ได้ และจะเกิดขึ้นจากมูลหนี้ตามสัญญาหรือละเมิดก็ได้ ดังนั้นหากไม่มีหนี้ประธานหรือหนี้ประธานไม่สมบูรณ์ ก็ย่อมไม่มีสัญญาจำนำ

    5. ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ
    เพราะหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ประธาน ผู้รับจำนำจะสามารถบังคับจำนำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้ ดังนั้นผู้จำนำจึงต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่นำมาจำนำด้วย


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747
[2] สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย
[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/251

  จากบทความ “จำนำและภาระภาษี” Section: Laws & News / Column: Business Law
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 500 เดือนพฤษภาคม 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba