ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน

โดย

 


 
ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน


ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะต้องเป็นสินค้า “รถยนต์” หรือ “รถจักรยานยนต์” ตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตอนที่ 6 หรือตอนที่ 7 และกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ออกตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยจำแนกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 รถยนต์นั่ง

ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต หมายความว่า “รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้างและหรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด” รถยนต์นั่งจึงอาจเป็นประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Sub-Compact) รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) รถยนต์นั่งแบบ Hot Hatch รถยนต์สปอร์ตซีดาน สปอร์ตคูเป้ ซูเปอร์คาร์ รถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูง (Sport Utility Vehicle : SUV) หรือรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle : PPV) แล้วแต่ประเภทและลักษณะของรถยนต์นั้น ๆ แต่ไม่ว่าจะแบ่งประเภทอย่างไร รถยนต์ที่มีลักษณะดังกล่าวก็ถือเป็นรถยนต์นั่งตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ข้อสำคัญคือ รถยนต์นั่งดังที่กล่าวมานี้ ต้องเป็นรถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือรถ BEV เท่านั้น โดยต้องเป็นรถยนต์นั่งที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งนี้ จะต้องเป็นรถยนต์นั่งที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการนี้

ประเภทที่ 2 รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน

ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต “รถยนต์โดยสาร” หมายความว่า “รถตู้หรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้ขนส่งคนโดยสารจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน” รถยนต์โดยสารในกรณีนี้จึงจำกัดเฉพาะรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนเท่านั้น และข้อสำคัญคือ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือเป็นรถ BEV เท่านั้น โดยต้องมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งนี้ รถยนต์ดังกล่าวต้องผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการนี้

ประเภทที่ 3 รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม

ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต “รถยนต์กระบะ” หมายความว่า “รถยนต์ที่มีตอนหลังเป็นกระบะบรรทุกซึ่งเปิดโล่งจนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคา” ซึ่งได้แก่ รถยนต์กระบะทั้งประเภทไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (No Cab) มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (Space Cab) และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ข้อสำคัญคือ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือเป็นรถ BEV เท่านั้น โดยต้องมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งนี้ เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการนี้ หากเกินกำหนดดังกล่าวหรือเป็นรถยนต์กระบะนำเข้า ก็จะไม่ได้รับสิทธิ

ประเภทที่ 4 รถจักรยานยนต์

ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต หมายความว่า “รถที่มีล้อไม่เกิน 2 ล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกิน 1 ล้อ เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์หรือกำลังไฟฟ้า และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์” ข้อสำคัญคือ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือเป็นรถจักรยานยนต์ BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ซึ่งผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 - 2566 เท่านั้น ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์ดังกล่าวต้องมีคุณลักษณะและคุณสมบัติดังนี้

1. ใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีขนาดแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือจากสถาบันที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ (เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐรับรอง

2. ใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC (Worldwide Harmonized Motorcycle Emission Certification/Test Procedure) ตั้งแต่ Class 1 ขึ้นไป โดยต้องยื่นเอกสารรายงานผลการทดสอบจากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ (เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐรับรอง

3. ใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720 - 2560 หรือที่สูงกว่า หรือเป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ ข้อกำหนดที่ 75 (UN Regulation No. 75) 00 Series หรือ Series ที่สูงกว่า

4. ผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952 - 2561 หรือได้รับหนังสือรับรองแบบ (Certificate) ตามข้อกำหนดทางเทคนิคของสหประชาชาติ ข้อกำหนดที่ 136 (UN Regulation No. 136) 00 Series หรือ Series ที่สูงกว่า หรือได้รับหนังสือรับรองแบบเครื่องกำเนิดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก

จากบทความ : “เงินอุดหนุนสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ตอนที่ 1”
Section: Tax Talk / Column: Excise Tax
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่.....วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 488 เดือนพฤษภาคม 2565
หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 

FaLang translation system by Faboba