ทิศทางกฎหมายแรงงาน สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ในปี 2565

โดย

 


 
ทิศทางกฎหมายแรงงาน
สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ในปี 2565


HR Society Magazine ฉบับเดือนพฤษภาคม ได้รับเกียรติจากท่านพงษ์รัตน์ เครือกลิ่น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับคดีแรงงานและสอนหนังสือด้านกฎหมายแรงงานมากกว่า 30 ปี มาถ่ายทอดองค์ความรู้และอัปเดตทิศทางกฎหมายแรงงานไทย สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ในปี 2565

ศาลแรงงานมีภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบในการอำนวยความยุติธรรมอย่างไร

ศาลแรงงาน มีหน้าที่ตัดสินอรรถคดีแรงงานให้แก่นายจ้างและลูกจ้างที่มีคดีความเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน แต่เดิมคดีแรงงานตัดสินโดยศาลทั่วไปที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง ต่อมาศาลยุติธรรมมีแนวความคิดจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษ (Specialized Court) มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำหน้าที่ตัดสินคดีที่แตกต่างจากคดีทั่วไป ภายใต้กระบวนการพิจารณาที่ออกแบบให้เหมาะสม ศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษด้านคดีแรงงาน ในปี 2523 มีการจัดตั้งและเปิดดำเนินการศาลแรงงานกลาง เป็นศาลแรงงานแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานที่เกิดขึ้นในท้องที่กรุงเทพมหานคร ต่อมามีการจัดตั้งศาลแรงงานภาค 1 ถึงภาค 9 กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่ความที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยไม่จำเป็น

ช่วงวิกฤตโควิด-19 ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีข้อพิพาทแรงงานใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลแรงงานมากที่สุด

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานเป็นวงกว้าง ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรง คือ แรงงานในภาคบริการ เช่น โรงแรม สายการบิน รถขนส่งสาธารณะ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง สถานออกกำลังกาย สนามกีฬา งานแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง ประชุมสัมมนา ฯลฯ สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องปิดตัวลงและลูกจ้างถูกเลิกจ้าง บางแห่งต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและตกเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย แรงงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบ เพราะเกิดคลัสเตอร์ในไซด์งานก่อสร้าง ทำให้ต้องปิดแคมป์คนงาน การก่อสร้างหยุดชะงัก การแพร่ระบาดไม่เว้นแม้แต่ในภาคการผลิต เพราะคนงานในโรงงานติดโควิด-19 จำนวนมาก ไลน์การผลิตจึงได้รับผลกระทบ ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมาย ส่วนสถานประกอบการหลายแหล่งที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนลดน้อยลง สินค้าผลิตมาแล้วขายไม่ได้ มีผลทำให้นายจ้างจำนวนมากปรับลดสภาพการจ้าง บางรายจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในจำนวนที่น้อยลงกว่าเดิม บางรายถึงกับไม่จ่ายค่าจ้างอ้างว่าไม่มีเงินจ่าย แต่นายจ้างก็ไม่ยอมเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งคดีแรงงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย เงินที่นายจ้างต้องจ่ายในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว รวมทั้งเงินที่เกิดจากการเลิกจ้าง เช่น สินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่

บางส่วนจากบทความ : “ทิศทางกฎหมายแรงงาน สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ในปี 2565"
โดย : กองบรรณาธิการ / Section : - / Column : Cover Story
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 233 เดือนพฤษภาคม 2565

 

FaLang translation system by Faboba