การงดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต (ตอนที่ 1)

โดย

 

 
  เบี้ยปรับเงินเพิ่มสรรพสามิต” งดหรือลดลงได้หรือไม่


เนื่องจากเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตถือเป็นเงินภาษี โดยหลักการทั่วไปแล้ว หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจ พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สามารถที่จะสั่งงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้ดุลพินิจหรือสั่งการโดยพลการโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจมิได้ เพราะการสั่งการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ในทางกฎหมายมหาชนย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครอง หากสั่งการไปโดยไม่มีอำนาจแล้วก่อให้เกิดผลเสียหายต่อรัฐ ก็อาจส่งผลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องรับผิดในทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาว่าจะสามารถงดหรือลดเบี้ยปรับให้ได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
เมื่อพิจารณาสารบัญญัติของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พบว่า มาตรา 138 กำหนดให้ “เบี้ยปรับและเงินเพิ่มอาจงดหรือลดลงได้” ส่วนพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 140 วรรคสอง กำหนดให้ “เบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้” และมาตรา 141 วรรคสอง กำหนดให้ “เงินเพิ่มอาจลดลงได้” ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้บังคับจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2560 กำหนดให้ “ทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสามารถที่จะงดหรือลดลงได้” ส่วนพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 จนถึงปัจจุบัน กำหนดให้ “เบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้” เช่นเดียวกับกฎหมายเดิม แต่ในส่วนของเงินเพิ่มนั้นจะมีความแตกต่างไปจากเดิม เพราะกฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดให้เงินเพิ่ม “อาจลดลงได้” โดยมิได้กำหนดให้สามารถงดได้ด้วย จึงสรุปหลักเกณฑ์ของกฎหมายปัจจุบันได้ว่า “เบี้ยปรับสามารถงดทั้งจำนวนหรือลดให้บางส่วนได้ ส่วนเงินเพิ่มนั้น งดทั้งจำนวนไม่ได้ แต่ลดให้บางส่วนได้” นั่นเอง
การที่กฎหมายฉบับเดิมและกฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเงินเพิ่มไว้แตกต่างกันดังกล่าว หากเป็นกรณีภาษีสรรพสามิตที่ไม่ได้เสียหรือเสียไม่ถูกต้องนั้น เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าต้องบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน คือพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ดังนั้นหากหน้าที่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 จนถึงปัจจุบัน เบี้ยปรับย่อมสามารถงดทั้งจำนวนหรือลดให้บางส่วนได้ ส่วนเงินเพิ่มนั้น งดทั้งจำนวนไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ แต่สามารถลดให้บางส่วนได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่การไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้นในช่วงก่อนวันที่ 16 กันยายน 2560 ในช่วงที่พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดิมยังคงมีผลใช้บังคับ เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้ารถยนต์แล้วนำรถยนต์ออกจากโรงอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2560 แต่เสียภาษีสรรพสามิตไว้ไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน ต่อมาในช่วงปี 2562 ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายนี้ยื่นคำขอโดยขอให้งดเบี้ยปรับและงดเงินเพิ่มทั้งจำนวน ในส่วนของเบี้ยปรับ ไม่มีปัญหาเพราะกฎหมายบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้เหมือนกัน แต่ในส่วนของเงินเพิ่มนั้น สารบัญญัติของกฎหมายมีความแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดประเด็นปัญหาว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะสามารถงดเงินเพิ่มให้ได้หรือไม่ และจะต้องใช้บังคับหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใด
ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปพิจารณาหลักการในเรื่อง “จุดความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษี” (Tax Point) ซึ่งในทางภาษีอากรจะถือเป็นจุด (Point) ที่ใช้ในการพิจารณาว่าหน้าที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นเมื่อใด และจะต้องนำกฎหมายฉบับใดมาใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ผลิตรถยนต์และนำออกจากโรงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 ยังอยู่ในช่วงที่กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับเดิมใช้บังคับ แม้จะมีการยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ใช้บังคับแล้วก็ตาม ผู้มีอำนาจในการพิจารณาสั่งการก็จะต้องพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ว่า “ทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสามารถที่จะงดหรือลดลงได้” ดังนั้นหากเห็นว่าครบเงื่อนไขตามกฎหมาย และจะสั่งให้งดเงินเพิ่มทั้งจำนวน ก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำได้ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แม้จะเป็นการพิจารณาและสั่งการในช่วงที่พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม

   
      บางส่วนจากบทความ "การงดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต (ตอนที่ 1)"
      อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่..วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41  ฉบับที่ 485 เดือนกุมภาพันธ์ 2565
     หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index




Tax Talk : Excise Tax : กองบรรณาธิการ
วารสาร : เอกสารภาษีอากร  กุมภาพันธ์ 2565



FaLang translation system by Faboba