การใช้หลักการบริหารจัดการองค์กรบนสภาวะวิกฤต

โดย

 

 
หลักการบริหาร 6 ประการ

หลักการบริหาร 6 ประการ คือหลักการเบื้องต้นที่นักบริหารหรือผู้บริหารทุกระดับชั้นในหน่วยงานขององค์กร ควรจะนำไป
ใช้ในการบริหารจัดการหน่วยงานของตนเอง เพื่อช่วยเหลือและผลักดันให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนผ่านวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นนี้
ไปให้ได้ โดยผู้บริหารและทีมงานของตนเองจะต้องให้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการปฏิบัติ
ภารกิจขององค์กรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดและวางแผนเอาไว้ตามเป้าหมาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การวางแผนขององค์กร คือ องค์กรจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อกำหนดเป้าหมายหลักขององค์กรว่า จะดำเนิน
ธุรกิจและประกอบกิจการอย่างไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร และจะตั้งเป้าหมายของความสำเร็จเอาไว้อย่างไร (ยอดขายและ
กำไรเท่าไร) ซึ่งแผนจะเป็นตัวกำหนดกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติงานให้แก่ส่วนงานต่างๆ ภายในองค์กรว่า แต่ละ
หน่วยงาน (Unit) ใด ต้องทำหน้าที่อะไร บนเป้าหมายจำนวนหน่วยเท่าไร อย่างไร พร้อมแผนฉุกเฉินที่ได้จัดทำเตรียมเอาไว้
ในแผนหลัก เผื่อสำหรับเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือปัญหาที่มิได้คาดคิดเอาไว้ พร้อมกับในแผนจะมีการกำหนดตัวชี้วัดประกบ
ลงไป เพื่อให้แต่ละหน่วยงานทราบว่า หน่วยงานของตนเองต้องปฏิบัติงานบนเป้าหมายเท่าไร รวมถึงเป็นกรอบแนวคิด/
วิธีการปฏิบัติงานที่จะต้องนำไปสร้างเป็นแผนย่อยของการทำงานในหน่วยงานของตนขึ้นมาอีก โดยจะมีการลงรายละเอียดที่
ระบุขั้นตอนการปฏิบัติงานลงไปอย่างละเอียดตามแผนใหญ่ที่วางและกำหนดเป้าหมายเอาไว้ โดยผู้จัดการและหัวหน้าหน่วย
งานแต่ละหน่วยงานร่วมมือกันทำแผนย่อยขึ้นมา จึงจะทำให้เห็นทิศทางหรือกรอบของแนวในการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน

2. การจัดการโครงสร้างองค์กร คือการออกแบบและกำหนดรูปแบบของโครงสร้างว่าจะมีรูปแบบในการปฏิบัติงานอย่างไร
พร้อมอำนาจหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนในการบริหารจัดการหน่วยงานภายใน ตามโครงสร้างขององค์กรที่ได้ทำการออกแบบและ
วางเอาไว้ในผังโครงสร้าง ซึ่งในส่วนเหล่านี้เองจะทำให้เห็น Business Model ขององค์กรในทางธุรกิจได้อย่างชัดเจน หรือ
อาจกล่าวได้เลยว่า องค์กรมียุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจอย่างไร โดยทำให้เห็นว่าองค์ประกอบทางธุรกิจขององค์กร
มีส่วนประกอบในรูปแบบหน้าตาหน่วยงานภายในเป็นอย่างไร และจะสามารถดำเนินการร่วมกันแบบส่งต่อคุณค่า
(Value Added) ให้กันและกันต่อไปได้ทั้งระบบอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพื่อให้หน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องได้เห็นภาพ
โครงสร้างองค์กรที่ออกแบบเอาไว้ว่า มีการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อกับการวางโครงข่ายการไหลของงาน (Work Flow) และ
วางการสื่อสารภายในองค์กรให้เป็นระบบ การทำงานก็จะเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ทำให้การสั่งงานออกไปแบบไม่มี
ความผิดเพี้ยง และยังทำให้ผู้บริหารหรือผู้นำสั่งการ/มอบหมายงานให้แก่หน่วยงานไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและทันเวลา

3. การบริหารงานบุคคล คือ หลักการบริหารจัดการคน (บุคลากร) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งของ
การบริหารงานก็ว่าได้ เพราะคนที่อยู่ในองค์กรทุกคนถือว่ามีความสำคัญ และองค์กรจะขับเคลื่อนหรือเคลื่อนที่ไปสู่เป้าหมาย
และประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ก็เพราะคน คนเป็นผู้ที่มีหน้าที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หรือ
ประสบกับความล้มเหลวเสียหายได้ หากคนมีความสามารถและรับผิดชอบสูงในหน้าที่ของตนเอง การขับเคลื่อนองค์กรสู่
ความสำเร็จและเจริญเติบโตต่อไปข้างหน้าได้นั้น ก็เกิดขึ้นเพราะคนเป็นผู้กระทำ ซึ่งคนถือเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่ามากที่สุด
และแพงที่สุดขององค์กร เพราะคนเป็นผู้ปฏิบัติงานที่สร้างความเชื่อมโยงและส่งต่อคุณค่าให้เกิดขึ้นภายในองค์กรออกไปสู่
ภายนอก (ผู้ใช้สินค้าและบริหาร) ซึ่งเขาเหล่านี้มีหน้าที่ในการนำพาและผลักดันองค์กรให้เคลื่อนไปให้ได้ตามเป้าหมายที่
วางแผนและกำหนดทิศทางของความสำเร็จเอาไว้ล่วงหน้า ตามแผนงานที่จัดทำขึ้นในเบื้องต้น สรุปได้ว่าองค์กรจะสำเร็จ
หรือล่มสลายก็เพราะคนนั้นเอง

4. การสั่งการ คือ คำสั่งที่ได้สั่งการออกไปให้คน (พนักงาน) นำไปปฏิบัติตาม โดยบุคคลเหล่านั้นมีหน้าที่และได้รับ
มอบหมายให้ปฏิบัติงานตามคำสั่งและตามระเบียบของระบบการปฏิบัติงาน ซึ่งได้ออกแบบเอาไว้ตามฟังก์ชันงานที่ถูก
ออกแบบและกำหนดเอาไว้แล้วตามโครงสร้าง โดยจะต้องมีการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามนโยบายและตามคำสั่งการที่ถูกต้อง
อย่างมีวิสัยทัศน์ และตามการตัดสินใจของผู้สั่งการ (ผู้บริหาร) ซึ่งเป็นผู้นำที่ถูกกำหนดด้วยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
ของการสั่งการที่เป็นระบบและมีแบบแผนตามโครงสร้าง โดยการสั่งการจะต้องไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก สับสน หรือก่อให้
เกิดข้อสงสัยในคำสั่งการนั้น เพื่อให้การสั่งการได้ผลลัพธ์ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นในทางบวกหรือทางลบก็ตาม ผู้สั่งการ
ต้องรับผิดชอบในการสั่งนั้น

5. การประสานงาน คือ ผลหรือวิธีการปฏิบัติงานที่หน่วยงานภายในองค์กรจะต้องให้ความร่วมมือ และทำให้เกิด
ความเชื่องโยงในทางปฏิบัติงานให้เป็นไปตามการสั่งการของผู้บริหาร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาจากการทำงานบนความสำเร็จ
ขององค์กร ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันปฏิบัติงาน ตามภารกิจและพันธกิจที่ได้รับมอบหมายและถูกกำหนดเอาไว้
ตามโครงสร้างองค์กร

6. การรายงาน คือ กระบวนการหรือเทคนิคของการปฏิบัติงานอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการแจ้งผลการดำเนินงานตามคำสั่งที่
ผู้บริหารได้สั่งการและมอบหมายงานเอาไว้ โดยให้ทราบว่า ผลของการดำเนินงานหรือปฏิบัติงานคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว และ
มีปัญหาหรืออุปสรรคใดที่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้สั่งการหรือไม่ เพื่อให้ผู้สั่งการทราบอย่างทันเวลา และสามารถให้
ความสนับสนุนช่วยเหลือจนจบภารกิจได้อย่างรวดเร็ว อันจะส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วตามเป้าหมาย



  บางส่วนจากบทความ  “การใช้หลักการบริหารจัดการองค์กรบนสภาวะวิกฤต”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 221 เดือนกรกฎาคม 2564

รู้รอบการจัดการองค์กร : HRM/HRD : ดร.ขวัญชัย เกิดอุบล
วารสาร : HR Society Magazine กรกฎาคม 2564



FaLang translation system by Faboba