CEA... The Value of Creativity ยกระดับธุรกิจและบุคลากร...ด้วยความสร้างสรรค์

โดย

 

 

HR Society ฉบับนี้พาคุณผู้อ่านร่วมเรียนรู้ถึงวิธีการสร้างและคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาทั้งธุรกิจและบุคลากร
ขององค์กร โดยได้รับเกียรติจาก คุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
(องค์การมหาชน) มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ฟังค่ะ

อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าความเป็นมาและบทบาทของ CEA ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ฟังคร่าวๆ ค่ะ
“CEA เป็นสำนักงานที่จัดตั้งใหม่ซึ่งเติบโตมาจาก TCDC เดิมรับผิดชอบภารกิจเฉพาะเรื่องการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
กราฟิก เรื่องงานดีไซน์ เรื่องแฟชั่นบ้าง แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลมองเห็นว่าศาสตร์ทางการสร้างสรรค์มีหลากหลายแต่ไม่ค่อยมี
คนรับผิดชอบโดยตรงครบทุกด้าน และเมื่อเราจะทำประเด็นเรื่องสร้างสรรค์ก็เลยตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้
โดยตรง จึงทำให้สำนักงานฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเรื่องการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้เกิดธุรกิจ
สร้างสรรค์ขึ้น ทำให้เกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขึ้น แล้วก็ทำให้มีรายได้ของประเทศ รายได้ของบริษัท รวมถึงรายได้ของ
บุคคล เพราะฉะนั้นเราจึงมีบทบาทนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับแต่ละกลุ่มโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จะทำให้เขาใช้
ความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมต่างๆ ได้
อีกด้านหนึ่งเราก็ช่วยทำให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ได้ใช้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่ดังนั้นเราก็ไป
พัฒนาพื้นที่ที่เรียกว่า “ย่านสร้างสรรค์” เช่น ที่เจริญกรุง รวมทั้งที่เชียงใหม่และขอนแก่น ให้เกิดขึ้น
การทำงานของเราก็จะมีเรื่องความรู้ระดับบุคคล ระดับธุรกิจ ระดับพื้นที่ แล้วเราก็ทำหน้าที่ตรงกลางในการเชื่อมโยงเรื่อง
ทั้งหมดให้ไปถึงกันได้”

สำหรับหน่วยงานของ HR จะนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้างคะ
“ในหน่วยงาน HR ผมคิดว่า ต้องทำตั้งแต่เริ่มต้น พนักงานทุกคนต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ขององค์กรก่อน อันที่ 2 คือเราได้
รับคนมาถูกต้องกับวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะฉะนั้นในส่วนของ HR ผมไม่คิดว่า HR จะทำงานแค่เป็น HR ของออฟฟิศคือ
แค่ดูแลพนักงาน แต่ผมคิดว่าหน้าที่หลักสำคัญของ HR คือการทำให้พละกำลังของคนในสำนักงานหรือของออฟฟิศเพิ่มมาก
ขึ้น เช่น เมื่อก่อน 1 คน = 1 แรง เราก็พัฒนาและดึงศักยภาพของเขาทำให้มีความสามารถมากขึ้นเก่งขึ้น
จาก 1 คน = 1 แรง ก็อาจจะเป็น 1 คน = 4 แรง คนขององค์กรก็จะมีความสามารถมากกว่า มีกำลังที่จะเดินไปข้างหน้า
ได้มากกว่า
ผมเชื่อว่า HR ที่ดีต้องคิดถึงปลายทางสุดท้ายต้องคิดถึงภาพใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราวของคน ไม่ใช่แค่เรื่อง
Management แต่เป็นภาพรวมว่าเราบริหารคนเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นภาพรวมที่ทุกคนต้องได้รับรู้ร่วมกัน
เพราะฉะนั้น HR ต้องเห็นปลายทางว่า เรารับคนมาแล้วจะส่งเสริมเขาให้เขาเรียนรู้ ให้เขามีเงินพอกินพอใช้ไหม ให้เขามี
อนาคตไหม ให้เขามีเส้นทางการเติบโตในอาชีพอย่างไรได้บ้าง และสุดท้ายคือต้องทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ”

อยากให้อาจารย์ช่วยฝากข้อคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และการทำงานสักนิดค่ะ 
“ผมเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ เพียงแต่ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์นั้นเราให้คุณค่าหรือ
ความสำคัญกับมันแค่ไหน 
ถ้าเป็น C ตัวเล็ก หรือ Creative ที่เป็น C ตัวเล็ก มันก็จะเป็นเฉพาะตัวบุคคล แต่ถ้าเราสามารถทำ Creative ให้เป็น
C ตัวใหญ่ มันก็จะมีคุณค่ากับคนอื่น เช่น มีคุณค่ากับสังคม มีคุณค่ากับบริษัท มีคุณค่ากับพื้นที่ และมีคนเข้ามาแชร์คุณค่า
ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ด้วยวิธีใด เพราะฉะนั้นถ้ามันเริ่มต้นจากการที่เรามี C ตัวเล็กก่อนก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องขยาย C ตัวเล็กนั้น
ให้มันเป็น C ตัวใหญ่ เพื่อทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเรากระจายไปทั่ว ให้ทุกคนได้รับรู้ ให้ทุกคนได้แชร์ จากนั้นก็ทำให้
C ตัวใหญ่นี้เปลี่ยนเป็นเงินต่อได้ เปลี่ยนเป็นความสุขของสังคมได้”



  บางส่วนจากบทความ  “CEA... The Value of Creativity ยกระดับธุรกิจและบุคลากร...ด้วยความสร้างสรรค์”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 212 เดือนสิงหาคม 2563



Cover Story : กองบรรณาธิการ 
วารสาร : HR Society Magazine สิงหาคม 2563


FaLang translation system by Faboba