HR กับการรับมือวิกฤติโรคระบาด

โดย

 

 

บทความตอนนี้จะประมวลแนวทางการบริหารจัดการของหลายๆ ประเทศมา เพื่อให้ความรู้ แนวทาง สามารถนำไปปรับใช้
ได้ถึงระดับองค์กรและบุคลากร ซึ่งเมื่อติดตามอ่านจัดว่ามีรูปแบบที่ไม่ค่อยต่างกันมากนัก ยกเว้นรายละเอียดบางเรื่อง
ข้อสำคัญบางแห่งมีกฎหมายบังคับใช้มานานแล้วไม่ต้องออกเฉพาะกิจหรือเร่งด่วน แสดงถึงความก้าวหน้าที่ประเทศที่พัฒนา
แล้วมี 

เริ่มที่ประเทศจีนก่อน เพราะเป็นปฐมเหตุของการเกิดที่นี่ ชาวโลกรับทราบด้วยความตระหนกตกใจเมื่อมีการระบาดและทำให้
ผู้คนล้มตายเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ชาวต่างชาติต่างขออพยพออกจากเมืองอู่ฮั่น จีนแสดงศักยภาพบางอย่างด้วยการสั่ง
ก่อสร้างโรงพยาบาลเฉพาะโรคนี้โดยเฉพาะให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งก็ทำได้จริงๆ สามารถรองรับคนไข้ได้นับพันกว่า
เตียง แต่ก็เอาไม่อยู่ ประกาศปิดเมือง หยุดธุรกิจทั้งหมด ห้ามออกนอกบ้าน ถนนหนทางมีแต่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น
ระดมแพทย์พยาบาลจากเมืองอื่นมาช่วย ซึ่งสถานการณ์บรรเทาลงได้เมื่อผ่านไปเกือบ 2 เดือนกว่าจะฟื้นกลับมา ที่ทำ
เช่นนี้ได้เพราะเขาปกครองคนด้วยการเผด็จการ สั่งคำไหนต้องเป็นคำนั้น ไม่มีการโต้แย้งสิทธิส่วนบุคคล ขัดขืน ใครไม่ใส่
หน้ากากอนามัยจะต้องถูกลงโทษ

สหรัฐอเมริกามีมาตรการที่นำมาปรับใช้ได้ โดย Centre for Disease Control (CDC) ทำตัวเป็นศูนย์กลางสื่อสารถึง
ประชาชนอย่างทันควันต่อเนื่อง เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้มีความเป็นไปได้ แม้จะออกตัวว่าสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจาก
การเกิดเชื้อโรคสู่การเร่งแพร่ตัวเร็วขึ้น ต้องตื่นตัวแล้ว คำแนะนำห้ามเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง แผนการเดินทางภายใน
ประเทศก็ต้องทบทวน สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน งดบิน รวมถึงการกักกันตามจำนวนวัน ธุรกิจแทบทุกชนิดกระทบกระเทือน
ไปหมด ตลาดหุ้นทรุดลง การขาดแคลนสินค้าบางประเภทเกิดขึ้นเพราะผลิตเองไม่ได้ เช่น พวกอะไหล่ เครื่องมือ สินค้า
อุปโภคบริโภคบางอย่าง ราคาทองคำพุ่งกระฉูด น้ำมันราคาตก ที่สำคัญมีคำเตือนกันว่า “The worst is Yet to Come”

ประเทศสิงคโปร์มีคนป่วยเช่นเดียวกัน มาตรการจะเน้นที่การรักษาผลิตภาพให้มากที่สุด เพราะสิงคโปร์จะกลายเป็นศูนย์กลาง
ทางการเงินแทนฮ่องกงในไม่ช้าค่อนข้างแน่นอน หากพนักงานประจำขาดไปให้นึกถึงการจัดหาพนักงานชั่วคราว หรือมีการ
อนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้บางเวลา อาจมีทั้งพนักงานมาทำงานที่สำนักงานและทำงานที่บ้านควบคู่กันไปได้ มีมาตรการวัด
อุณหภูมิร่างกายทั้งตอนเข้างานและจะกลับบ้านอย่างเข้มงวด จัดแอลกอฮอลล์หรือเจลล้างมือให้เพียงพอ กระตุ้น ตักเตือน
ให้พนักงานทำความสะอาด Lab top และอุปกรณ์ทำงานอื่นๆ ให้บ่อยกว่าเดิม งดการประชุมในห้องประชุมยกเว้นมีเรื่อง
สำคัญสุดยอด ให้ใช้วิธีอื่นๆ เช่น Teleconference วิดีโอคอล ใช้โทรศัพท์ในการติดต่อกับลูกค้า 

พาไปท่องโลกมาพอสมควร ทีนี้หันกลับมาดูบ้านเรากันบ้าง มีคำถามที่นักบริหารบุคคลต้องคิดค้นหาคำตอบให้ได้
ความชัดเจน คือ
1.พนักงานสามารถใช้สิทธิ์ลาหยุดได้ไหม หากเขารู้สึกว่าอาจสัมผัสกับเชื้อโรคนี้ จะใช้สิทธิ์ประเภทไหนได้ หรือจะได้รับ
ค่าจ้างหรือไม่
2.นายจ้างมีสิทธิ์ส่งตัวลูกจ้างกลับบ้านได้ไหม หากคิดว่าพนักงานผู้นั้นป่วยหรืออาจเป็นพาหะของโรค (โดยลูกจ้างไม่
สมัครใจ) และจะถูกตัดค่าจ้างหรือไม่
3.การที่นายจ้างสั่งให้พนักงานทุกคนหมุนเวียนลากันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
4.ในองค์การฝ่ายบริหารบุคคลได้มีการจัดทำแผนฉุกเฉิน แผนการรับมือกับภาวะวิกฤติไว้บ้างหรือไม่
5.ในองค์การฝ่ายบริหารบุคคลได้ดำเนินการใดบ้าง ในอันที่จะส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมและ
อาชีวอนามัย ฯลฯ

คำถามไม่ได้มีแค่นี้ แต่ที่หยิบยกมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น บางส่วนเป็นข้อกฎหมาย บางส่วนเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสรรค์
เอง คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินข่าวสารที่องค์การใหญ่ๆ บางแห่งเผยแพร่สู่สาธารณว่า เขาทำอย่างไรเมื่อพบว่าพนักงานบางคน
ได้เดินทางไปประเทศเสี่ยงมา ปิดสำนักงาน ฉีดยาฆ่าเชื้อ สั่งให้พนักงานหยุดงาน นั่นเป็นการแก้ไข สื่อสารเพื่อแสดง
ความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ประโยชน์ในแง่การประชาสัมพันธ์ด้วยซ้ำ สิ่งที่ต้องคิดคือการมองหาแนวทางด้านการป้องกัน
มากกว่า 

เพื่อนนักบริหารบุคคลทั้งหลาย ถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดทำคู่มือพนักงานฉบับรับวิกฤติ หรือคุณจะเรียกอะไรก็ตาม แต่มันคือ
คำแนะนำ แนวทางปฏิบัติขององค์การ ของผู้บริหาร ของพนักงาน ในการเผชิญกับวิกฤติการที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นวงกว้าง
หรือวงแคบ 

ขอให้ผู้อ่านปลอดภัยจากการคุกคามของคุณโควิด ประเทศชาติปลอดภัยจากการแพร่ระบาดและโลกรอดพ้นจากวิกฤตินี้
โดยเร็ว   


  บางส่วนจากบทความ  “HR กับการรับมือวิกฤติโรคระบาด”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 209 เดือนพฤษภาคม 2563



HRM/HRD : สนทนาประสา HR : สุชาดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา 
วารสาร : HR Society Magazine พฤษภาคม 2563


FaLang translation system by Faboba