โยกย้ายลูกจ้างอย่างไรไม่ให้มีปัญหา

โดย


โดยปกติ นายจ้างจะเป็นผู้มีหน้าที่มอบหมายหน้าที่การงานให้กับลูกจ้างทำตรงตามตำแหน่งงานของลูกจ้าง การที่
นายจ้างจะมอบหมายงานให้กับลูกจ้าง จะต้องมอบหมายให้ตรงกับความรู้ความสามารถของลูกจ้างด้วย มิฉะนั้น
ลูกจ้างย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการทำงานให้กับนายจ้างได้

นายจ้างบางรายมีการจัดทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือไว้กับลูกจ้างตั้งแต่เริ่มจ้าง ซึ่งมักจะกำหนดเงื่อนไขหนึ่ง
ไว้ในสัญญาจ้างแรงงานไว้อย่างชัดเจนว่า นายจ้างมีสิทธิโยกย้ายเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานของลูกจ้างได้ตาม
ความเหมาะสม ทั้งที่เป็นกิจการของนายจ้างเอง หรือบริษัทในเครือของนายจ้าง ลูกจ้างได้ตกลงลงนามทำสัญญา
ไว้โดยมิได้อิดเอื้อน จึงเท่ากับว่า ลูกจ้างได้ตกลงยินยอมให้นายจ้างมีสิทธิโยกย้ายฯ ตนเองไว้เรียบร้อยแล้ว

การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานของลูกจ้างนั้น แม้ไม่มีการทำสัญญาจ้างแรงงานไว้เป็นหนังสือดังที่กล่าวไว้
วรรคก่อน แต่ตามกฎหมายแรงงานถือเป็นอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง ทั้งนี้ การโยกย้ายจะต้องไม่มีลักษณะ
เป็นการลดตำแหน่งของลูกจ้าง ลดรายได้ หรือสิทธิประโยชน์ใดของลูกจ้าง หากนายจ้างฝ่าฝืนจะถือว่า นายจ้าง
เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าลูกจ้างจะให้ความยินยอม 

ดังนั้น ลูกจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างได้อย่างชอบธรรม นายจ้างไม่อาจกล่าวอ้างว่า ลูกจ้าง
จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างแล้วใช้สิทธิลงโทษลูกจ้างตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้

การที่นายจ้างปรับเลื่อนตำแหน่งลูกจ้างสูงขึ้นจากเดิม ฟังดูเผินๆ นายจ้างมีสิทธิกระทำได้ แต่หากตำแหน่งหน้าที่
การงานใหม่ของลูกจ้างนั้น มีเงื่อนไขบางอย่างที่ลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติได้ปะปนอยู่ด้วย เช่น ลูกจ้างจะต้องไป
ปฏิบัติงานในต่างประเทศ หรือต่างจังหวัดเพิ่มเติม เป็นต้น หากไม่มีการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไว้ใน
สัญญาตั้งแต่เริ่มจ้างแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในลักษณะที่ไม่เป็น
คุณกับลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการเลื่อนตำแหน่งของนายจ้างได้

การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานให้กับบริษัทในเครือของนายจ้างนั้น ตามกฎหมายแพ่งแล้วบริษัทในเครือถือเป็นคนละ
นิติบุคคลกับนายจ้างเดิม จึงเป็นบุคคลภายนอก นายจ้างไม่สามารถกระทำได้โดยพลการ เว้นแต่ลูกจ้างจะยินยอม
พร้อมใจด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 577 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้

“นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้กับบุคคลภายนอกแทนตนก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย  ลูกจ้างจะให้บุคคล
ภายนอกทำงานแทนตนก็ได้ เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญา
อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”  

แต่วิธีการแก้ปัญหาของนายจ้าง คือ ให้ลูกจ้างทำข้อตกลงยินยอมไว้ตั้งแต่เริ่มจ้างดั่งที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งนี้
ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างจะต้องไม่ลดลง มิฉะนั้น ข้อตกลงนี้จะถือเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้ 

สำหรับกรณีการโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานในบริษัทในเครืองข้างต้นนั้น ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง ซึ่งมี
ผลทำให้นายจ้างใหม่ที่รับโอนลูกจ้างไปนั้นจะต้องปฏิบัติการรับโอนให้ถูกต้องตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ด้วย กล่าวคือ “หากมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล
และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดไปเป็นลูกจ้าง
ของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้
สิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับ
ลูกจ้างนั้นทุกประการ” 

  บางส่วนจากบทความ  “โยกย้ายลูกจ้างอย่างไรไม่ให้มีปัญหา” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 201 เดือนกันยายน 2562



กฎหมายแรงงาน : เรื่องข้น คน HR : วรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์
วารสาร : HR Society Magazine กันยายน 2562


FaLang translation system by Faboba