ใกล้ความจริงแล้ว กับวัสดุที่สามารถสมานตัวเองได้เมื่อถูกขีดข่วน

โดย ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
 

     ไม่ว่าจะเป็นรอยขีดข่วนบนผิวสีรถยนต์ โน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ไอพอด ตลอดจนริ้วรอยบนอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนใหม่ เพียงแค่นำผิววัสดุที่ถูกขีดข่วนไปโดนแดดหรือแสงอัลตร้าไวโอเล็ต (UV)

     โดยปกติผิวหนังของคนเราเมื่อถูกขีดข่วน มันก็สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ในขณะที่พื้นผิวของสิ่งไม่มีชีวิตไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ นักวัสดุศาสตร์จึงคิดค้นพัฒนาสารเคลือบผิวที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้เลียน แบบธรรมชาติ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีผู้คิดค้นวัสดุที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ได้โดยใช้ระบบเรซินสังเคราะห์ (Epoxy) แต่ก็ยังยุ่งยากต่อการนำมาใช้ในเชิง พาณิชย์ การพัฒนาครั้งนี้จึงเป็นก้าวที่ขยับใกล้ความจริงมากที่สุด

     สารที่ช่วยในการสมานตัวเองนี้ได้มาจากการผสมโพลียูริเทนเข้ากับ “ไคโตซาน” (Chitosan) ซึ่งเป็นสารชีวภาพที่สกัดจากเปลือกกุ้งและกระดองปู นำมาผ่านกระบวนการจนเกิดเป็นโพลิเมอร์ธรรมชาติ (Biopolymer) ซึ่งตอบสนองไวต่อรังสี UV

     เมื่อเกิดรอยขีดข่วนขึ้น มันจะทำลายโครงสร้างทางเคมีของโพลีเมอร์ สารไคโตซานซึ่งถูกกระตุ้นด้วยแสง UV จะก่อพันธะทางเคมี โดยทำหน้าที่สมานโครงสร้างที่ถูกทำลายเข้าด้วยกันจนผิววัสดุเรียบเนียน จุดเด่นคือกระบวนการนี้กินเวลาไม่ถึง 1 ชม. และสามารถทำงานภายใต้สภาวะที่หลากหลาย

     ศ.มาเร็ค เออร์แบน  (Marek Urban) แห่งมหาวิทยาลัย Southern Mississippi ผู้พัฒนาสารเคลือบมหัศจรรย์นี้ กล่าวว่า “มันสามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีแสงอัลตร้าไวโอเล็ต ไม่จำเป็นต้องเป็นแสงจากดวงอาทิตย์ แค่แสงจากหลอด UV ก็ใช้ได้แล้ว”

     อย่างไรก็ตามกระบวนการสมานรอยขีดข่วนสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวต่อหนึ่งจุด ถ้าเกิดรอยขีดข่วนขึ้นซ้ำๆที่เดิมความสามารถในการสมานตัวเองก็จะลดลง ซึ่งถือว่าเป็นจุดด้อยที่จะต้องปรับปรุงต่อไป

FaLang translation system by Faboba