Update ข่าวสารมาตรฐานฯ ฉบับปรับปรุงใหม่

โดย

 



สวัสดีท่านสมาชิกวารสาร CPD&ACCOUNT ทุกท่าน มาตรฐานการรายงานทางการเงินนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่นักบัญชีต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานในวิชาชีพบัญชี เดือนนี้ Mr.cpd มีข่าวมา Update ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานที่มีการปรับปรุงโดยสภาวิชาชีพบัญชีครับ

สภาวิชาชีพบัญชีได้ปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยทุกฉบับอีกครั้งเพื่อให้ทัดเทียมกับการรายงานทางการเงินของประเทศอื่นๆ โดยใช้ชื่อว่า “ฉบับปรับปรุง 2560” ซึ่งแปลมาจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับรวมเล่มปี 2017 (IFRS blue book bound volume 2017) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไปซึ่งการปรับปรุงมาตรฐานครั้งนี้มีเพียง 3 ฉบับ ที่เปลี่ยนแปลงแล้วกระทบจริงจัง คือ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 12 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในกิจการอื่น แต่การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่อาจไม่ได้กระทบต่องบการเงินมากนักจึงได้สรุปประเด็นสําคัญของการปรับปรุงดังต่อไปนี้

TAS 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด
ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในหนี้สินของกิจการที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมจัดหาเงินทั้งที่เป็นรายการที่เป็นเงินสดและรายการที่ไม่ใช่เงินสดเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินการเปลี่ยนแปลงในหนี้สินที่เกิดจากกิจกรรมจัดหาเงิน

TAS 12 เรื่อง ภาษีเงินได้
ปรับปรุงการรับรู้และการวัดมูลค่าของหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีหรือสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี หรือหนี้สินภาษีเงินได้ปัจจุบันหรือสินทรัพย์ภาษีเงินได้ปัจจุบันสําหรับประเด็นเรื่องการรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีในกรณีมีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยอธิบายให้ชัดเจนว่าการประเมินกําไรทางภาษีในงวดอนาคตเพียงพอที่จะนํามาใช้สําหรับการกลับรายการของผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษีหรือไม่ (เช่น ขาดทุนสะสมยกไป 5 ปี) กําไรทางภาษีในงวดอนาคตที่ต้องนํามาเปรียบเทียบนั้นจะไม่รวมรายการหักทางภาษี (Tax deductions) และอธิบายให้ชัดเจนว่าการประเมินกําไรทางภาษีในงวดอนาคตของกิจการนั้น ให้รวมถึงกําไรที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มูลค่าของสินทรัพย์ของกิจการอาจจะสูงกว่าที่บันทึกอยู่ในขณะนี้

TFRS 12 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในกิจการอื่น
อธิบายให้ชัดเจนว่าการเปิดเผยตามข้อกําหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับส่วนได้เสียในกิจการอื่นตามขอบเขตของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 5 ทั้งนี้มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินโดยสรุปสําหรับส่วนได้เสียในบริษัทย่อย การร่วมค้า หรือในบริษัทร่วมที่ถือไว้เพื่อขายหรือที่จัดประเภทเป็นไปตามการดําาเนินงานที่ยกเลิก

จากที่กล่าวทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรฐาน ฯ ทั้ง 3 ฉบับ นักบัญชีทุกท่านสามารถหาความรู้เพิ่มเติมติดตามข่าวสารมาตรฐานการบัญชี จากสภาวิชาชีพบัญชี หรือจะ Update ความรู้กับการสัมมนาในหลายๆ หลักสูตรตลอดเดือนกันยายน – ตุลาคม กับทางธรรมนิติได้เลยครับ


บัญชี : CPD NEWS : MR.CPD
วารสาร : CPD&ACCOUNT กันยายน 2560
FaLang translation system by Faboba