เมื่อนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไม่พอใจการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่จะมีวิธี “คุ้มครอง” อย่างไร?

โดย

 


ในสังคมประชาธิปไตย “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเครื่องมือที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คือ “กฎหมาย” ประเทศประชาธิปไตยจึงเป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่นำกฎหมายมาปฏิบัติภายใต้หลักการสำคัญว่า การปฏิบัติหรือการใช้อำนาจนั้นจะต้องถูกต้องตามกฎหมายต้องสอดคล้องตรงตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้

จึงกล่าวได้ว่า กฎหมายเป็นทั้ง “ที่มาของอำนาจ” และเป็น “ข้อจำกัดอำนาจ” เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองสิทธิของตนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงได้มีกลไกสำหรับการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้หรือไม่ กลไกที่ว่านี้ เรียกว่า“องค์กรตุลาการ” หรือ “ศาล” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมีผลต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมประชาธิปไตยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 หรือ โลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิต หน่วยงานของรัฐทุกแห่งต่างเร่งรัดที่จะก้าวไปข้างหน้า ทั้งการสร้างสรรค์งานบนพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ การเผยแพร่ความรู้หลากหลายด้านเพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมและสามารถเข้าถึงการบริการด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง

ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับ “องค์กรตุลาการหรือศาล” ที่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน คือ ศาลแรงงานและศาลปกครอง จึงถือว่าจำเป็นที่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนสมควรต้องรู้และเข้าใจเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคใหม่อย่างมีความสุข

ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน มีกฎหมายที่เป็นฐานที่มาของอำนาจหลายฉบับ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวให้ความคุ้มครองบุคคลที่อยู่ในสถานะเป็น “ลูกจ้าง” และ “ผู้ประกันตน” โดยมี “นายจ้าง”เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้างและผู้ประกันตนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดและสำนักงานประกันสังคมโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ และบังคับใช้กฎหมายให้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ โดย “ศาลแรงงาน” ถือเป็นศาลชำนัญพิเศษที่พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจ “ศาลแรงงาน” ส่วน “ศาลปกครอง” เป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอื่นที่ไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายทั้งสองฉบับกำหนด ทั้งนี้ โดยมาตรา 9 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ยกเว้นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแรงงานดังกล่าว

  ปัญหา คือ ศาลแรงงานและศาลปกครอง เข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนอย่างไร? และ   นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิที่เกี่ยวข้องจะสามารถเขาถึงกระบวนการคุ้มครองได้อย่างไร?

การฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน
ต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายเงินทดแทน
สิทธิและหน้าที่ คืออะไร? คือ สิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือหน้าที่ต่างๆ ที่กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทนกำหนดไว้เพื่อให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครอง หรือหน้าที่ในเรื่องต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนถือปฏิบัติ เช่นหน้าที่ในการจ่ายเงินสมทบ หน้าที่ในการยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างเพื่อให้ผู้ประกันตนหรือลูกจ้างได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมและหรือกองทุนเงินทดแทน ฯลฯ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในลักษณะที่กระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่หรือทำให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนไม่พอใจ เช่น เจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่าลูกจ้างหรือผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด(กรณีผู้ประกันตนตาย) ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน (ในกรณีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด) หรือเจ้าหน้าที่สั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน(ที่เป็นตัวเงิน) มีจำนวนน้อยกว่าที่ต้องการ หรือเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ เนื่องจากผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือนายจ้างไม่พอใจการประเมินเงินสมทบที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบหรือนายจ้างโต้แย้งคำสั่งของเจ้าหน้าที่ว่าบุคคลที่ตกลงจ้างให้ทำงานบางคนไม่ใช่ลูกจ้าง เป็นต้น

ขั้นตอนที่นายจ้าง ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ ภายหลังจากได้รับแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่และประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน  คือ

ขั้นแรก คือ การยื่นอุทธรณ์
ถือเป็นขั้นตอนและวิธีการสำคัญที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 กำหนดให้ปฏิบัติ ก่อนที่จะนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวศาลจะไม่รับไว้พิจารณา

• กรณีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายประกันสังคม เมื่อนายจ้าง ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน “สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่” (มาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) 

• กรณีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายเงินทดแทน เมื่อนายจ้าง ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิได้รับแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนภายใน “สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่หรือการประเมินเงินสมทบของเจ้าหน้าที่” (มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537)

ขั้นที่สอง การฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ ไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่พิจารณาอุทธรณ์ข้างต้น ให้มีสิทธินำคดีไปฟ้องต่อ “ศาลแรงงาน”  ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย (มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537) โดยฟ้องสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล มิใช่ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดหรือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2551) ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดดังกล่าว จะถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด และเมื่อศาลแรงงานมีคำพิพากษาแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของศาลแรงงานก็สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานต่อศาลฎีกาภายใน “สิบห้าวันนับแต่ศาลแรงงานมีคำพิพากษา”

หมายเหตุ: คำอุทธรณ์จะต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน กรณีที่คำอุทธรณ์ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานและไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 31 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2550)

การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยหรือได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่

ศาลปกครองมีอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) – (6) ในการพิจารณาคดีพิพาททางปกครอง หมายถึง คดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ เอกชน หรือ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยกันเอง (คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง จึงมีคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเสมอ) อันเนื่องมาจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (กฎหมายปกครอง) หรือหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎหรือคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่ง หรือ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรทำให้เกิดความเสียหาย หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นต้น

เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างคดีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองและได้มีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง ดังนี้

(1) กรณีฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐออก “กฎ” (เช่น กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติที่มีสภาพเป็นกฎ) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น แรงงานต่างด้าวฟ้องว่า แนวปฏิบัติตามหนังสือของสำนักงานประกันสังคม ที่ รส 0711/ว 751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ที่สำนักงานประกันสังคมออกมาใช้บังคับโดยกำหนดว่าแรงงานต่างด้าวจะได้รับความคุ้มครองกรณีที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีหลักฐานว่า นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย เป็นแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 821/2558 )  หรือ ผู้ว่าจ้างลูกจ้างงานบ้านฟ้องว่ากระทรวงแรงงานกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างงานบ้านบางประการเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ว่าจ้างเกินสมควรและการที่ลูกจ้างไม่สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้ ทำให้เกิดภาระในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและเงินค่าจ้างในระหว่างเจ็บป่วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ. 6/2560)

(2) กรณีฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาฟ้องว่า สำนักงานประกันสังคมออกคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลอยู่ ชื่อสถานที่ทำงานของลูกจ้างหรือผู้ประกันตนซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีจะต้องอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง) (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.1355/2559)

(3) กรณีฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เช่น ผู้ประกันตนฟ้องว่า สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ (สถานพยาบาลของรัฐบาล) และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ละเลยต่อหน้าที่โดยไม่จ่ายเงินค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์คืนให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้สำรองจ่ายเงินไปก่อน (คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินค่ายาและค่าบริการให้ตน  ก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง) (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 243/2558)

(4) กรณีฟ้องให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิด  เช่น เอกชน (ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน) ฟ้องให้เทศบาลชดใช้ค่าเสียหายอีกทางหนึ่ง กรณีประสบอันตรายได้รับบาดเจ็บจากการตกท่อระบายน้ำที่เทศบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยใช้สิทธิชำระค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันชีวิตและใช้สิทธิประกันสังคม(ผู้ประกันตน) อีกทางหนึ่งแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 2059/2559)

(5) กรณีฟ้องโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น สถานพยาบาลคู่สัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฟ้องว่า สำนักงานประกันสังคมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (สัญญาทางปกครอง) (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 607/2554)

การฟ้องคดีต่อศาลจึงเป็นวิธีการคุ้มครองสิทธิของนายจ้าง ลูกจ้างและผู้ประกันตนซึ่งจากบทบาทและภารกิจของศาลแรงงานและศาลปกครองข้างต้น ทำให้เกิดความชัดเจนว่า ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนมีข้อพาทเกิดขึ้นและจะนำข้อพิพาทนั้นไปฟ้องต่อศาลแรงงานหรือศาลปกครอง จำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนเป็นเบื้องต้นว่า เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537  (ซึ่งอยู่ในอำนาจของ “ศาลแรงงาน”) หรือเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายประกันสังคมหรือกฎหมายเงินทดแทนหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (ซึ่งจะต้องฟ้องต่อ “ศาลปกครอง”) แต่ก่อนที่จะนำข้อพิพาทไปฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจ นอกจากจะต้องตามขั้นตอนการแก้ไขความเดือดร้อนในฝ่ายปกครอง เช่น การอุทธรณ์ก่อนแล้ว (ในการฟ้องคดีบางประเภท)  อายุความการฟ้องคดีก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น นายจ้าง ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนที่ประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลก็จำเป็นต้องตรวจสอบอายุความการฟ้องคดีไว้ด้วยเพราะหากฟ้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีจากสารบบความต่อไป


กฎหมายแรงงาน : ประกันสังคม : ปรานี สุขศรี
วารสาร : HR Society Magazine กรกฎาคม 2560
FaLang translation system by Faboba