การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Transition to the Digital Economy)

โดย



หากพิจารณามูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization หรือ Market Cap) ของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 5 บริษัทแรก จะพบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในปี ค.ศ. 2006 บริษัทที่มี Market Cap มากที่สุดเรียงตามลำดับ 1-5 คือ Exxon GE Total Microsoft และ Citi Bank ตามลำดับ ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Tech Company มีเพียง Microsoft เท่านั้น แต่ในปี 2016 บริษัทที่มี Market Cap สูงที่สุด 5 อันดับแรกกลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งหมด ได้แก่ Apple Alphabet (Google) Microsoft Amazon และ Facebook โดยที่ Apple มี Market Cap สูงถึง US$ 528 billion นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ใน Fortune 500 จากเดิมที่ต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยถึง 20 ปีจึงจะมี Market Cap สูงเกินกว่า US$ 1 billion แต่บริษัทเทคโนโลยี เช่น Google ใช้เวลาเพียง 8 ปี Uber ใช้เวลา 4.4 ปี และ Airbnb ใช้เวลาเพียง 2.8 ปี เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy) ในการสร้างความมั่งคั่งและภายในเวลาอันรวดเร็ว

บริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเป็น Start up ก่อน และเมื่อประสบความสำเร็จมีมูลค่าเกิน US$ 1 billion แต่ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ จะเรียกว่า “Unicorn” ในปี 2013 มีบริษัทเข้าข่าย Unicorn เพียง 39 บริษัทเท่านั้น แต่ในปี 2015 เพิ่มขึ้นเป็น 80 บริษัท ปัจจัยผลักดันให้เกิด Unicorn เพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว คือ เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนมากขึ้น ดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้นักลงทุนหาช่องใหม่ๆในการลงทุน ส่วนหนึ่งนำมาลงทุนใน Start Up การผ่อนคลายกฎระเบียบของรัฐบาลสหรัฐใน Jobs Act ทำให้บริษัทขนาดเล็กระดมทุนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการที่จีนที่สั่งสมความมั่งคั่งจากตลาดในประเทศ เริ่มหันมากระจายพอร์ตการลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงในสหรัฐอเมริกามากขึ้น

ยุคเศรษฐกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำ (Digital Economy) ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ มีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ คือ 

  1. การใช้ทรัพยากรเมื่อต้องการ (Resource on Demand) ภายใต้เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกำลังการผลิตที่เหลือของทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ ตัวอย่างของธุรกิจ Sharing Economy ที่ประสบความสำเร็จ เช่น บริษัท Airbnb ที่เชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีเครือข่ายการให้บริการใน 65,000 เมืองและ 191 ประเทศทั่วโลก
  2. การใช้ศักยภาพของบุคลากรเมื่อต้องการ (Talent on Demand) ในรูปแบบของแรงงานอิสระ (Freelance Workforce) คำว่า “Freelance” หรือ “Freelancer” คือผู้มีอาชีพอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานองค์กรใดๆ Freelance จะต้องจัดตารางเวลาการทำงานของตนเองและรับเงินจากผู้ว่าจ้าง ซึ่งตกลงตามความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ในปี 2015 ประเทศสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนของ Freelance สูงถึง 54 ล้านคน หรือคิดเป็น 34% ของจำนวนประชากร

  3. การแสวงหาความรู้และข้อมูลที่จำเป็นเมื่อต้องการ (Intelligence on Demand) ผ่านทาง Crowds และ Cloud โดยการกระจายปัญหาไปยังชุมชน Online หรือในโลก Cyber เพื่อค้นหาคำตอบและวิธีการในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ เรียกว่า Crowdsourcing ส่วนระบบ Cloud คือ แอพพลิเคชั่นที่ช่วยเก็บข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลที่ต้องการด้วยรูปแบบ Saas (Software as a Service) ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้ทุกที่ โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้ง Server เพื่อเก็บข้อมูลที่มากมาย ลดความยุ่งยาก ไม่ต้องดูแลระบบ IT ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ ซึ่งจะคอยดูแลระบบตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งซอฟต์แวร์ต่างๆ สามารถเรียกข้อมูลใช้เมื่อต้องการ 

เทคโนโลยีที่เป็นเสาหลักในยุค Digital Economy ประกอบด้วย ระบบไซเบอร์ (Cyber Physical System) ระบบประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ระบบความปลอดภัย (System Security) ระบบการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือน (Augmented Reality) และหุ่นยนต์ที่ออกแบบขึ้นมาโดยมีพื้นฐานเลียนแบบร่างกายมนุษย์ (Humanoid Robots) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Digital Economy จะอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นตัวนำ ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงาน รูปแบบกระบวนการทำงานและกลยุทธ์ ตลอดจนโครงสร้างองค์กรแตกต่างออกไปจากเดิม โดยมีลักษณะที่สำคัญ คือ

  1. มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบ Internet และ Applications ที่ออกแบบเพื่อรองรับความต้องการของแต่ละบุคคล (The Internet of Me) เมื่อ Digital และ Internet กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือ Internet of Things (IoT) ผู้บริโภคต้องการให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไร้รอยต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผู้บริโภคเริ่มคาดหวังว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำงานนั้นจะต้องรู้จักตัวตนของผู้ใช้และเข้าใจว่าผู้ใช้ต้องการอะไร รวมทั้งสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ รอบตัวเพื่อส่งผ่านข้อมูลนั้นไปได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องของ Internet of Me หรือการ Personalize ของอุปกรณ์ต่างๆ ไปตามความชอบของแต่ละคน
  2. การเกิดขึ้นของแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ (กลุ่ม Millennials) มีความสามารถในการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว (Digital Natives) ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้าต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้น (Digital Immigrants) ส่วนใหญ่ Digital Natives เป็นกลุ่มที่เกิดหลังปี 1994 ซึ่งระบบ Internet มีการใช้อย่างแพร่หลาย ปัจจุบันมีอายุประมาณ 10-29 ปี คนกลุ่มนี้จะคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน หรือเพื่อเล่นเกม ทำการบ้าน ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและกิจกรรม ตลอดจนติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นผ่านทาง Social Media ต่างๆ จากสถิติของ International Telecom Union ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองในกลุ่มของประเทศที่มี Digital Native เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือมีอยู่ราว 4.38 ล้านคน คิดเป็น 6.3% ของประชากรทั้งหมด และคิดเป็น 42.3% ของกลุ่มประชากรอายุ 15-24 ปี ส่วน Digital Immigrant หมายถึง ผู้ที่เกิดก่อนยุคดิจิทัล (อายุประมาณ 30-60 ปี) แต่สนใจและมองเห็นประโยชน์จึงหันมาศึกษาและเรียนรู้พื้นฐานการใช้งานเทคโนโลยีใหม่นี้บ้าง แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการรวมถึงทักษะและความคุ้นเคย ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับตัว
  3. การทำงานและการใช้ชีวิต (Work and Life) เปลี่ยนไป เนื่องจากมีการเชื่อมต่อการทำงานผ่านระบบ Internet และ Social Media ทำให้พนักงานจะอยู่ที่ใด ใช้อุปกรณ์แบบใด ในเวลาใด ก็สามารถทำงานได้ (Any Place Any Time Any Devices) การทำงานแบบ Telecommuting หรือ Work Anywhere เป็นรูปแบบการทำงานที่พนักงานสามารถใช้ Internet และ Social Media ทำงานได้จากที่บ้าน ที่พักอาศัย หรือสถานที่อื่นๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปที่ทำงาน อย่างไรก็ตามองค์ประกอบที่สำคัญคือต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสม จึงจะส่งเสริมให้เกิดการทำงานในลักษณะ Telecommuting แพร่หลายมากขึ้น
  4. งานในยุค Digital Economy เริ่มถูกแทนที่ด้วยการใช้ระบบ Automation ทำให้รูปแบบแรงงานในอนาคต (Future Workforce) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ งานที่จะหายไปเนื่องจากถูกแทนที่ด้วยระบบ Automation งานที่อาศัยทักษะและความรู้ควบคุมและใช้งานระบบ Automation งานที่เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากการใช้ระบบ Automation และ งานที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยระบบ Automation เพื่อไม่ให้ตกงานในยุค Digital Economy แรงงานจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใน 4 ด้าน คือ ทักษะในการใช้ประโยชน์จากสื่อ (Media Literacy Ability) ทักษะในการจัดลำดับและแยกแยะข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่มีความสำคัญ (Cognitive Load Management Ability) ทักษะในการแปลความหมายของข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์ (Computational Thinking Ability) และทักษะในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในลักษณะ Virtual Team ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Virtual Collaboration) 

  5. รูปแบบการทำธุรกิจต้องเผชิญกับการกดดันจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำลายธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันจนต้องล่มสลาย (Disruptive Technology) ถ้าดูอายุเฉลี่ยของบริษัทชั้นนำ ใน S&P 500 ในปี ค.ศ. 1960 คือ 60 ปี และลดลงเป็น 35 ปี ในปี ค.ศ. 1980 คาดว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทใน S&P 500 จะเหลือเพียง 20 ปี ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบริษัทเทคโนโลยีภายใต้ Sharing Economy ที่โตเร็ว และถ้าตามพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ทันก็จะล่มสลายเร็ว เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่จับต้องไม่ได้หรือไม่มีอยู่ในมือ อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เคยให้ข้อสังเกตว่า “บริษัทหนึ่งจะเปราะบางมาก หากมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกิดจากแนวคิดที่ไม่คำนึงถึงทรัพย์สินที่จับต้องได้ ความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงอาจหายไปในชั่วข้ามคืน”

  6. องค์กรในยุค Digital Economy จะมีรูปแบบที่แบนราบและมีขั้นตอนการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น สายการบังคับบัญชาแบบบนลงล่าง (Top-down) ที่ใช้กันทั่วไปไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ทัน สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ช้า ขณะเดียวกัน การจัดโครงสร้างแบบการแบ่งทีมตามโครงการ (Project based Organization) ก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรยุคใหม่เสมอไป เนื่องจากปัญหาความซับซ้อน เข้าใจยากและสร้างความสับสนให้พนักงาน แนวคิดใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจคือ การบริหารองค์กรแบบไร้ลำดับชั้น (Holacracy Organization) ซึ่งถูกคิดโดย Brian Robertson เพื่อรองรับวิวัฒนาการของธุรกิจในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค Collaborative หรือ Sharing Economy หลักการพื้นฐานของ Holacracy คือการยกเลิกอำนาจและโครงสร้างบริหาร ให้ความสำคัญกับการกำหนดบทบาท (Roles) ที่ต้องทำหรือความรับผิดชอบให้ชัดเจน หลังจากนั้นผู้ที่รับผิดชอบก็ดำเนินงานไปโดยไม่ต้องมีหัวหน้ามาคอยควบคุม ความแตกต่างที่สำคัญจากการบริหารแบบเดิมคือ บทบาท (Roles) จะถูกกำหนดโดยงานเป็นหลัก (ไม่ใช่ตัวคน) อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และคนแต่ละคนก็สามารถทำงานได้หลายบทบาท นอกจากนี้ อำนาจในการตัดสินใจจะถูกกระจายไปยังทีมและผู้ที่ดำรงบทบาทต่างๆ การตัดสินใจจึงเกิดขึ้นในระดับปฏิบัติการ เป็นการบริหารงานด้วยตนเองไม่ใช่ตามสายการบังคับบัญชา ที่สำคัญคือจะมีกฎและแนวทางในการทำงานที่เปิดเผย โปร่งใสและชัดเจน ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม มีการใช้ Applications หรือ Website ช่วยประสานร่วมมือการทำงานในลักษณะ Social Workflow ซึ่งสามารถเชื่อมต่อใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ (Any Device) ทำให้การทำงานแบบไร้ลำดับชั้นง่ายขึ้น 

  7. โครงสร้างการบริหารงานจะเปลี่ยนจากรูปแบบปิรามิด ที่มีการทำงานร่วมกันระหว่าง ผู้นำ หน่วยงานหลัก และ หน่วยงานสนับสนุน ไปเป็นโครงสร้างแบบยืดหยุ่น มีผู้นำและทีมพัฒนานวัตกรรมที่มีอิสระ ตัดสินใจได้เอง นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น บริษัท Samsung มีการกำหนดให้การสร้างนวัตกรรมกลายเป็นค่านิยมร่วม (Common Value) ของพนักงานและเป็นวัฒนธรรม (Culture) ขององค์กร มีการจัดตั้งทีมพัฒนานวัตกรรมที่ประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีลักษณะและแนวความคิดที่แตกต่างกันเข้ามาทำโครงการต่างๆ หรือบริษัท Honda Robotics ที่มีการให้เครื่องมือ งบประมาณ และกำลังคน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แสวงหาความคิดนอกกรอบ กล้าทดลอง รวมทั้งมอบอำนาจเด็ดขาด (Empowerment) ให้พนักงานสามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ ตัดสินใจได้เอง ทำให้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น

ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี (Founder) ที่ก้าวมาจากการเป็นบริษัท Start up ไปสู่ Unicorn และสามารถนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เข้าใจถึงวิสัยทัศน์และภารกิจของตนเองอย่างชัดเจนว่าบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมานั้นมีเป้าหมายอย่างไร ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในทางที่ดีขึ้นอย่างไร และสามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ไปยังผู้อื่นเพื่อมาร่วมสร้างความเชื่อที่มีให้เป็นจริงร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งบางคนก็ไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร มีการจ้างมืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่ Chief Executive Officer (CEO) ความแตกต่างในเรื่องทักษะระหว่าง Founder กับ CEO คือระดับความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการบริหารงาน โดย Founder จะมีระดับความคิดสร้างสรรค์ที่สูง ในขณะที่ CEO จะโดดเด่นในเรื่องการบริหารงานมากกว่า ทั้งนี้ ผู้ที่จะทำหน้าที่บริหารองค์กร ไม่ว่าจะยังคงเป็น Founder หรือเปลี่ยนเป็น CEO จะต้องเป็น Digital Leader ที่เข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล รวมทั้งบทบาทและทักษะที่แตกต่างจากผู้นำทั่วไป จึงจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จและมีอายุยาวนานได้


ข้อมูลจาก : วารสาร HR Society Magazine ฉบับเดือนมีนาคม 2560
Cover Story : บทความ ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย [email protected]

FaLang translation system by Faboba