การใช้สิทธิประโยชน์จากการซื้อทรัพย์สินในปี 2559 ขยายเวลาเพิ่มอีก 1 ปี

โดย



เมื่อปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559  มีกฎหมายออกมาที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ต่อเติม เปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินให้สามารถลงรายจ่ายได้เพิ่มขึ้นทางภาษี 2 เท่า ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้กิจการลงทุนมากขึ้นจากกฎหมายที่กรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์นี้เห็นได้ว่าผู้ประกอบกิจการมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่ปัญหาหนึ่งเมื่อใช้สิทธิทางภาษีแล้ว ก็ต้องนำมากรอกใบแบบ ภ.ง.ด.50 เพื่อเสียภาษี ของปี 2559 ที่จะต้องยื่นแบบภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นั้นให้ถูกต้อง  ซึ่งนักบัญชีอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการกรอกในแบบ ภ.ง.ด.50 ว่าจะต้องกรอกอย่างไร เช่น 

  • หากจ่ายเงินปี 59 ไปแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือต้องจ่ายปี 60 จะกรอกใบแบบ ภ.ง.ด.50 อย่างไร
  • ซื้อทรัพย์สินมาใช้แต่ทรัพย์สินนั้นใช้ที่สาขาต่างประเทศจะได้สิทธิหรือไม่
  • ไม่ได้ทำสัญญาแต่มีการจ่ายเงินจริงจะได้สิทธิหรือไม่
  • จุดใดบ้างที่สรรพากรจะตรวจสอบจากการใช้สิทธิประโยชน์จากการลงทุนนี้
  • เอกสารที่ผู้ต้องการใช้สิทธิต้องจัดเตรียมเพื่อให้สรรพากรตรวจสอบ
  • ปัญหาการใช้สิทธิจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในกิจการ 

ดังนั้นนักบัญชีต้องทำความเข้าใจในตัวกฎหมายเพื่อที่จะสามารถนำมากรอกในแบบภ.ง.ด. 50 ได้อย่างถูกต้อง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชกฤษฎีกา 604 พระราชกฤษฎีกา 622 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 266 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 270

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ได้มีมติครม.เห็นชอบให้ขยายเวลาการใช้สิทธิจากการลงทุนต่อเติม เปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศขยายออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม -31 ธันวาคม 2560 โดยมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางส่วนในเรื่องของจำนวนจากเดิม 2 เท่า เหลือ 1.5 เท่า โดยได้ให้สิทธิแก่บริษัทที่มีการจ่ายเงิลงทุนในทรัพย์สินประเภท

  • เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • ยานพาหนะที่มิใช่รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
  • อาคารถาวรแต่ไม่รวมที่ดินและที่อยู่อาศัย

โดยทรัพย์สิน ที่จะนำมาหักรายจ่าย 1.5 เท่าได้นั้นต้องเป็น

  1. ทรัพย์สินใหม่ที่มีการจ่ายเงินลงทุนในปี 2560 และต้องพร้อมใช้งานภายใน 31 ธันวาคม 2560 เว้นแต่เป็นเครื่องจักรและอาคารถาวรจะพร้อมใช้งานหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก็ได้
  2. กรณีที่เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิ 2 เท่าตามมาตรการเดิมแต่ยังจ่ายเงินลงทุนไม่หมดและมาจ่ายในปี 2560 ก็จะได้รับสิทธิหักรายจ่าย 1.5 เท่าตามมาตรการภาษีนี้ได้ด้วย

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 มกราคม 2560 ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี  อย่างไรก็ดีต้องรอติดตามตัวกฎหมายว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ อย่างไร

 

FaLang translation system by Faboba