ภาษีกับความมั่งคั่ง Tax and Wealth

โดย




เริ่มต้นปีใหม่ 2560 ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน ประสบความสุขความเจริญตลอดปี 2560 นะครับ  
ปีนี้ผมสนใจเรื่องการจัดการหรือการบริหารความมั่งคั่งซึ่งในหัวข้อนี้แบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ก็คือ (1) เรื่องภาษีกับ (2) เรื่องความมั่งคั่ง ว่าทั้งสองเรื่องมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หลายคนอาจจะคิดว่าคนที่มั่งคั่งแล้วจะต้องเสียภาษีมาก คือ คิดไปในทางที่ว่า คนที่มั่งคั่งก็คือคนที่มีทรัพย์สินมากหรือคนที่มีรายได้มาก อันที่จริงแล้วความมั่งคั่งไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามีทรัพย์สินหรือรายได้มากเลย เพราะว่าความมั่งคั่งฟังดูคล้ายๆ กับความร่ำรวยอย่างหนึ่ง แต่คนเราร่ำรวยน้ำใจก็ได้หรือร่ำรวยในเรื่องของความคิดที่แตกฉานต่างๆ ก็ได้ ถามว่าความมั่งคั่งเกิดจากอะไร ผมเชื่อว่าคนทุกคนมีทรัพยากรของมนุษย์ซึ่งผมเรียกว่า Human Capital อยู่แล้วคำนี้ประกอบด้วยปัจจัยสี่หัวข้อคือ

  1. Youth คือ ความเป็นหนุ่มสาว
  2. Health คือ สุขภาพร่างกายจิตวิญญาณที่สมบูรณ์
  3. Confidence คือ มีความมั่นใจในการดำรงชีวิต ตัดสินใจการทำงานและใช้ชีวิต
  4. A Top Notch Education คือ การที่ได้ร่ำเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นนำซึ่งอาจจะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศหรือทั่วภูมิภาค หรือแม้แต่ทั่วโลกก็ได้
  1. Youth หรือวัยหนุ่มวัยสาว หมายความว่า ถ้าคนสองคนมีความเก่งกาจเท่าๆ กัน คนหนึ่งอายุ 30 ปี อีกคนหนึ่งอายุ 60 ปี ในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ หรือ Human Capital จะต้องถือว่าคนที่มีอายุ 30 ปี มีคุณค่าหรือเวลาที่จะทำงานหาทรัพยากรหรือหารายได้ และทำความดีได้มากกว่าคนที่อายุ 60 ปีหลายเท่าเพราะว่าสมัยนี้คนเราแม้จะเกษียณอายุเอาปีที่ 75 ก็ตาม ถ้ามีความสามารถตั้งแต่อายุ 30 ปีแล้วก็ยังมีเวลาอีกตั้ง 45 ปีที่จะสร้างสมความรู้ ทำความดีและทำทรัพย์สมบัติให้พอกพูนได้นานกว่า ส่วนคนที่อายุ 60 ปีก็จะเหลือเวลาที่จะทำแบบเดียวกันได้อีกเพียง 15 ปี ดังนั้น จึงถือว่าคนที่อ่อนอายุได้แต้มต่ออีก 200% คือ 30 ปีเหนือคนที่มีอายุ 60 ปี  คือ คนอายุน้อยกว่ามีเวลา 45 ปี ส่วนคนอายุ 60 ปีก็มีเวลาเพียง 15 ปี
  2. Health หรือสุขภาพดี คนที่มีสุขภาพดีไม่ใช่แต่เฉพาะว่าจะประหยัดค่ารักษาพยาบาลไม่ต้องไปหาหมอ จ่ายค่ายาเวชภัณฑ์ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุข เบิกบานได้ สุขภาพดีเป็นทรัพย์สินตัวเดียวที่อยู่กับคุณ ไม่มีใครมาแย่งหรือขโมยไปได้ ดังนั้น การที่มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย สามวันดีสี่วันไข้ ย่อมถือเป็นลาภอันประเสริฐ คนเราจะมีสุขภาพดีได้นั้นต้องทำ 3 อย่าง คือ

    (ก) ออกกำลังกาย (Exercise) อย่างสม่ำเสมอและพอเพียง
    (ข) บริโภคอาหารแต่พอดีๆ (Stay on Diet) ไม่ทานมากจนเกินไปจนมีน้ำหนักเกิน ป่วยเป็นโรคอ้วนซึ่งจะตามมาด้วยโรคเบาหวานและอื่น ๆ 
    (ค) พักผ่อนให้เพียงพอ ให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้หลังจากทำงานหรือเรียนหนังสือมาทั้งวัน ต้องระลึกว่าเนื้อตัวเราทำด้วยเลือดและกล้ามเนื้อไม่ได้ทำด้วยเหล็กกล้า

  3. Confidence คือความมั่นใจ เราต้องสามารถตัดสินใจต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง อาศัยความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์และสถาบันการศึกษา อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาและสิ่งผิดพลาดหรือผลสำเร็จในอดีตที่จะปูทางในการดำรงชีพต่อไปในอนาคต คนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง โลเล ตัดสินใจไม่ได้ ย่อมจะทำงานให้สำเร็จได้ยาก

  4. A Top Notch Education การเรียนหนังสือจากนสถาบันการศึกษาชั้นนำ ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่จะมอบให้กับลูกหลานได้ดีที่สุดเพราะเมื่อลูกหลานมีความรู้ติดตัวแล้ว ย่อมใช้ไปได้ตลอดชีวิต ไม่มีวันหมด ต่างกับการให้ทรัพย์สมบัติซึ่งใช้ไปก็หมดไป หากไม่หามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ทรัพย์สมบัติยังถูกคนอื่นหลอกหรือขโมยไปได้ แต่ความรู้ไม่มีใครจะขโมยไปจากตัวเราและเป็นสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใช้เรายิ่งเก่งขึ้น การที่ลูกหลานได้ไปเรียนหนังสือที่สถาบันชั้นนำของประเทศหรือของโลกย่อมได้เข้าสังคมที่ดีกว่า มีเพื่อนฝูงร่วมชั้น (Classmates) ที่เก่งทัดเทียมกันและเป็นการสร้างเครือข่ายที่จะออกไปทำงานต่อยอดในอนาคต การที่ลูกหลานได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard หรือ Oxford หรือ Stanford ต้องถือว่าเป็นผลสำเร็จขั้นต้นที่น่าภาคภูมิใจ

    เมื่อรวมสิ่งต่างๆ ข้างต้นเข้าด้วยกันแล้ว จึงจะมาถึงเรื่องทรัพย์สมบัติที่คนเราจะสามารถหามาสะสมมาไว้ได้ ถามว่าคนไทยเราในแต่ละครอบครัวมีเงินเท่าใดจึงจะเพียงพอ ความเห็นของผมก็คือ ครอบครัวหนึ่งมี 20 ล้านบาท ผมก็ถือว่าบรรลุถึงจุดที่เป็นอิสระทางการเงิน คือ Financial Independence ได้ถ้าหากว่าคุณมี 20 ล้านบาท จะต้องใช้เงินอย่างไร โปรดดูรายละเอียดข้างล่าง


    1          บ้านและที่ดิน 8.0                ล้าน
    2 รถ 2 คัน 2.0 ล้าน
    3 ฝากธนาคาร มั่นคง และมีสภาพคล่อง                             0.5 ล้าน
    4 ซื้อหุ้นและพันธบัตร 4.5 ล้าน
    5 ที่ดิน – คอนโดอยู่เองหรือให้เช่า 3.0 ล้าน
    6 ทองคำ 1.0 ล้าน
    7 ลงทุนกิจการอื่นที่ชอบ  1.0 ล้าน
      รวม 20.0 ล้าน


    ตอนหน้าเราจะกล่าวถึงเรื่องภาษีซึ่งจะมาเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่ง ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ



ข้อมูลจาก : วารสารเอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2560
การวางแผนภาษี : ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร

FaLang translation system by Faboba