ลำดับขั้นตอนในการวางแผนภาษี

โดย

 


 
ลำดับขั้นตอนในการวางแผนภาษี


    ในการวางแผนภาษีของกิจการ ผู้วางแผนภาษีที่ประกอบไปด้วยคณะกรรมการหรือทีมงานวางแผนภาษี ซึ่งจะมีบุคคลหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นด้านบัญชี ผู้สอบบัญชี ด้านกฎหมายภาษีอากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยนำบุคคลต่าง ๆ มาจัดตั้งเป็นรูปแบบของคณะกรรมการหรือกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้มีการสร้างแนวความคิดหรือกรอบของการวางแผนภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
    สิ่งสำคัญในการวางแผนภาษีที่ผู้วางแผนภาษีจะต้องนำไปปฏิบัติ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    1. ศึกษาข้อเท็จจริง
    ในการวางแผนภาษีที่ดีนั้น ผู้วางแผนภาษีจะต้องศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยวางแผนวิเคราะห์ทางเลือกของข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านบัญชีและภาษีอากร ว่ามีผลกระทบใดบ้างที่กิจการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนั้น

    2. การเตรียมการก่อนการวิเคราะห์ข้อมูล
    ในการวางแผนภาษีจะต้องมีการเตรียมข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวางแผนภาษี ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยในการหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาด้านภาษีอากร เช่น ประมวลรัษฎากร หนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากร คำพิพากษาฎีกา

    3. นำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหา
    เมื่อกิจการได้มีการกำหนดข้อมูลปัญหาที่จะนำมาวางแผนภาษี ผู้วางแผนภาษีจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ปัญหาในแต่ละประเด็น โดยแยกเป็นกรณีศึกษาทางเลือกไว้หลายกรณีด้วยกัน แล้วนำมาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือก ซึ่งอาจจะนำปัญหาดังกล่าวไปสอบถามประเด็นภาษีกับกรมสรรพากรก็ได้ หากพบว่าไม่สามารถหาคำตอบ ไม่ชัดเจน หรือมีข้อขัดแย้งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

    4. การแก้ไขปัญหาตามกรณีศึกษาที่ได้กำหนดไว้
    การวางแผนภาษีที่นิยมปฏิบัติกันมากวิธีหนึ่งก็คือ กำหนดปัญหาขึ้นมาหรือที่เรียกว่า “กรณีศึกษา” ขึ้นมา 2 - 3 กรณีด้วยกัน เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของปัญหาดังกล่าวมาแก้ไขแต่ละประเด็น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ผู้วางแผนภาษีจะต้องทราบก่อนว่าอะไรคือปัญหาที่จะต้องเข้าไปวางแผนภาษี และจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในกรณีใดบ้าง มีผลกระทบทางภาษีประเภทใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว

    5. การตัดสินใจทางเลือก
    เมื่อมีการวางประเด็นของปัญหาในแต่ละกรณี ไม่ว่าจะเป็นข้อดี-ข้อเสียในแต่ละประเภท ตลอดจนภาษีอากรที่มีผลกระทบ ผู้วางแผนจะต้องนำกรณีศึกษาทุกกรณีมาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย หรือจุดเด่น-จุดด้อยให้เป็นข้อมูลที่คณะกรรมการวางแผนภาษีที่จะกำหนดเป็นทางเลือกที่จะนำไปให้ถือปฏิบัติต่อไป เมื่อได้ตัดสินใจทางเลือกใดได้แล้วควรจะนำไปตรวจสอบข้อมูลจากบุคคลภายนอกอีกครั้ง เช่น ผู้เชี่ยวชาญภาษีอากรหรือสอบถามจากกรมสรรพากรเพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการวางแผนภาษี

    6. ประเมินผลการนำไปปฏิบัติ
    หลังจากผู้วางแผนภาษีได้กำหนดทางเลือกเพื่อมามาปฏิบัติแล้วจะต้องนำออกมาใช้ ซึ่งจะต้องมีการติดตามผลของการนำไปปฏิบัติว่าเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ หากมีปัญหาจะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงได้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกิจการ

จากบทความ : ธุรกิจกับการวางแผนภาษี โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร/
Section : Tax Talk / Column : Tax & Accounting อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...
วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 254 เดือนกุมภาพันธ์ 2568

 
 


FaLang translation system by Faboba