แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องนำส่งข้อมูลใดให้สรรพากร
โดย
 |
|
แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องนำส่งข้อมูลใดให้สรรพากร
|
เมื่อปี 2566 กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดให้แพลตฟอร์มออนไลน์หรือภาษาในกฎหมายเรียกว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยข้อมูลซึ่งกฎหมายกำหนดให้แพลตฟอร์มนำส่งให้กรมสรรพากรเป็นข้อมูลซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นข้อมูลรายการใด เช่น ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน และรายได้อื่น ๆ ของร้านค้าออนไลน์ที่ทำการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ระยะเวลาในการจัดเตรียมข้อมูลและความพร้อมของระบบอิเล็กทรอนิกส์ของแพลตฟอร์มออนไลน์กับกรมสรรพากรนานถึง 1 ปี โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับรายรับที่ได้รับหรือพึงได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของแพลตฟอร์ม และต้องส่งข้อมูลดังกล่าวภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของแพลตฟอร์มออนไลน์ แพลตฟอร์มออนไลน์และ Service Provider ที่ได้รับมอบหมายจากแพลตฟอร์ม มีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลต่าง ๆ ของร้านค้าหรือผู้ประกอบการให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังนี้ 1. เลขทะเบียนนิติบุคคลของแพลตฟอร์มหรือ Service Provider 2. รอบระยะเวลาบัญชีของแพลตฟอร์ม 3. เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล หรือเลขหนังสือเดินทาง 4. ชื่อ สกุล ผู้ประกอบการกรณีบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคล 5. ยอดรวมจำนวนเงินที่เป็นฐานในการคำนวณค่านายหน้า รวมทุกบัญชี 6. ยอดรวมรายรับค่านายหน้า รวมทุกบัญชี 7. ยอดรวมจำนวนเงินที่เป็นฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียมการชำระเงิน รวมทุกบัญชี 8. ยอดรวมค่าธรรมเนียมการชำระเงิน รวมทุกบัญชี 9. ยอดรวมรายรับอื่น ๆ รวมทุกบัญชี 10. ชื่อธนาคารและเลขที่บัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินจากแพลตฟอร์ม ถ้าพิจารณาข้อมูลทั้ง 10 ประการข้างต้น หลายท่านคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า กรมสรรพากรได้ข้อมูลไปเพื่อประโยชน์อันใด ซึ่งการได้ข้อมูลของกรมสรรพากรนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่ารายได้จากการประกอบกิจการควรต้องนำมาคำนวณและจ่ายภาษีให้รัฐ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้จ่ายภาษีให้กรมสรรพากรอย่างถูกต้องและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากรายการข้อมูลของผู้ประกอบการหรือร้านค้าซึ่งทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ • ค่านายหน้า • ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน เช่น ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมการชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร ค่าธรรมเนียมการชำระเงินแบบผ่อนชำระ เป็นต้น • รายรับอื่น ๆ เช่น รายรับจากส่วนแบ่งโฆษณา เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการหรือร้านค้าถูกแพลตฟอร์มเรียกเก็บหรือได้รับจากแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งทำสัญญาค้าขายกับแพลตฟอร์มมีหน้าที่สำคัญนับจากนี้ คือ การจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย การเก็บเอกสารสำคัญประกอบรายรับและรายจ่ายให้ครบถ้วน รวมทั้งการจัดทำคำอธิบายต่าง ๆ ประกอบรายรับ รายจ่าย เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์กับเจ้าหน้าที่ และการยื่นแบบฯ ชำระภาษีให้กรมสรรพากรอย่างถูกต้องและครบถ้วน
จากบทความ แพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมนำส่งข้อมูลให้สรรพากร ? Section: Tax Talk /Column : Tax How to / อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 44 ฉบับที่ 521 เดือนกุมภาพันธ์ 2568 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index
|
|
|
|
|
|

|