งาน HR ในปี 2025 ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงที่ HR ต้องรู้
โดย
 |
|
งาน HR ในปี 2025 ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงที่ HR ต้องรู้
|
คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารในธุรกิจคัดสรรบุคลากร เป็นองค์กรที่ใช้ AI ในธุรกิจอย่างจริงจัง ที่จะทำให้เห็นแนวโน้มและทิศทางของงาน HR ที่กำลังเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ แนวโน้มการจ้างงานและอัตราค่าตอบแทนในตลาดแรงงานปี 2025 จะเป็นอย่างไร และตำแหน่งงานใดที่มีความต้องการสูงในตลาด “ถ้าดูจากข้อมูลพบว่า ปี 2566 มีแนวโน้มการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% และ 5% ตามลำดับ และข้อมูลจากการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่มีการจ้างงานอย่างคงที่ตลอดทั้งปี สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเภทของพนักงานที่ได้รับการจ้างงาน จะเป็นพนักงานตามสัญญาจ้าง หรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา โดยเพิ่มขึ้น 17% สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก 22% สำหรับธุรกิจขนาดกลาง และ 20% สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในการสรรหาบุคลากร ซึ่งอาจเกิดจากความต้องการการยืดหยุ่นและตำแหน่งที่รับผิดชอบงานเป็นโปรเจกต์ ส่วนเรื่องผลตอบแทนและสวัสดิการ ในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการและพนักงานส่วนใหญ่ ทั้งปี 2565 และปี 2566 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทส่วนใหญ่จึงขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเฉลี่ยที่ 6.69% สูงกว่าปี 2565 ที่มีอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 5% ประเด็นสำคัญ คือ อัตราการเพิ่มเงินเดือนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของประเทศในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 6.08% หมายความว่า พนักงานไม่เพียงแต่ได้เงินเดือนครอบคลุมในส่วนที่ต้องเสียไป แต่ยังได้เพิ่มผลตอบแทนอีกด้วย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และอนาคตที่สดใสสำหรับแรงงาน ตำแหน่งที่มีความต้องการสูงก็เปลี่ยนไปจากปีที่แล้ว ซึ่ง 5 อันดับแรกของตำแหน่งงานที่บริษัทจ้างงานในปี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 ยุ้ยมองว่าความแตกต่างสำคัญ คือ ตำแหน่งธุรการและทรัพยากรบุคคล ตำแหน่งบัญชี ครองตำแหน่งสูงสุด 2 อันดับแรกอยู่ที่ 42% ในขณะที่ตำแหน่งงานเข้าใหม่ที่อยู่ใน 5 อันดับแรก คือ ตำแหน่งงานขาย / พัฒนาธุรกิจ ตามด้วยการตลาด / การสร้างแบรนด์ และวิศวกร แสดงให้เห็นถึงความต้องการในตลาดสำหรับตำแหน่งงานเหล่านี้ของธุรกิจในปัจจุบัน” ในอีก 3 ปีข้างหน้า เทคโนโลยี AI จะส่งผลต่อการทำงานด้าน HR ในแต่ละด้านอย่างไร “การนำ AI มาใช้ในงาน HR ไม่เพียงแค่ช่วยให้การทำงานรวดเร็วและแม่นยำขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่ม ROI (Return On Investment) ให้กับองค์กรผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกๆ ด้านของการจัดการทรัพยากรบุคคลด้วย ยกตัวอย่างงานด้าน Recruitment เทคโนโลยี AI จะช่วยให้การจับคู่ผู้สมัครกับตำแหน่งงานแม่นยำขึ้น โดย AI สามารถกรองและวิเคราะห์ผู้สมัครที่ตรงกับคุณสมบัติที่ต้องการ ลดเวลาในการสรรหาและต้นทุนที่เกิดจากการคัดกรองคนไม่ตรงตำแหน่ง ทำให้ HR สามารถวัด ROI จากการสรรหาที่ดีขึ้น เนื่องจากการได้พนักงานที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการขององค์กรตั้งแต่ต้น จะช่วยลดการเปลี่ยนงานบ่อยครั้งและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนด้านการพัฒนาและการฝึกอบรม AI จะวิเคราะห์ช่องว่างทักษะของพนักงาน และแนะนำโปรแกรมฝึกอบรมที่เหมาะกับแต่ละบุคคล จะทำให้การพัฒนาตรงจุดมากขึ้น ลดความสูญเสียจากการฝึกอบรมที่ไม่ตอบโจทย์หรือที่ไม่จำเป็นจริงๆ สำหรับการดึงดูดและรักษาพนักงาน AI จะวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมและความพึงพอใจของพนักงาน ทำให้ฝ่าย HR สามารถใช้ข้อมูลที่ได้นั้นมาตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการจัดการทรัพยากรบุคคลได้ดียิ่งขึ้น อีกด้านที่อยากพูดถึง คือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน (Employee Experience) การใช้ AI อย่างเช่น Chatbot ที่ให้ข้อมูลหรือช่วยแก้ปัญหาให้พนักงานอย่างรวดเร็ว จะทำให้พนักงานมีความพึงพอใจมากขึ้น เมื่อพนักงานมีความสุขและรู้สึกได้รับการสนับสนุนจะมีแนวโน้มอยู่กับองค์กรนานขึ้น และมีผลงานที่ดียิ่งขึ้น”
บางส่วนจากบทความ : งาน HR ในปี 2025 ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงที่ HR ต้องรู้ โดย : กองบรรณาธิการ / Section : - / Column : Cover Story อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 23 ฉบับที่ 265 เดือนมกราคม 2568
|
|
|
|
|
|

|