การบันทึกมูลค่าสินค้าคงเหลือในงบการเงิน
โดย
|
|
การบันทึกมูลค่าสินค้าคงเหลือในงบการเงิน
|
งานบัญชีที่เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือนั้นมีส่วนสำคัญที่พอจะสรุปได้ดังนี้ 1. งานในส่วนของการวัดต้นทุนการเตรียมสินค้า ซึ่งจะใช้หลักราคาทุนในการวัดค่า 2. งานในส่วนของรายงานแสดงการเคลื่อนไหวและรายงานยอดคงเหลือของสินค้า ทั้ง 2 ส่วนจะก่อเกิดเป็นกระดาษทำการพื้นฐาน เช่น รายงานการผลิต รายงานสินค้างานระหว่างทำ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของรายงานนี้จะมีส่วนสำคัญที่งานด้านบัญชีต้องการนำเสนอ คือ ชนิดหรือชื่อเรียกของสินค้า จำนวน และมูลค่า สำหรับการบันทึกบัญชีสินค้า มีการบันทึกได้ 2 แบบ คือ 1. การบันทึกบัญชีสินค้าแบบสิ้นงวด (Periodic) ทำการบันทึกปิดบัญชีซื้อและคำนวณต้นทุนขายตามรอบสิ้นรอบระยะเวลารายงานหรือตามกำหนดของรอบปิดบัญชี 2. การบันทึกบัญชีสินค้าแบบต่อเนื่อง (Perpetual) ทำการบันทึกบัญชีทุกครั้งที่มีการซื้อหรือขายสินค้า โดยจะลงรายการบัญชีสินค้าคงเหลือซึ่งเป็นบัญชีคุมยอดในการบันทึกรายการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับสินค้าทุกครั้ง โดยในทั้งหมดนี้จะเกิดจากวิธีการคำนวณต้นทุนขายสินค้าคงเหลือ 3 วิธีหลัก โดยอยู่บนสมมติฐานและลักษณะด้านการจัดการบริหารสินค้าที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ 1. วิธีเข้าก่อน ออกก่อน (First-in, First-out : FIFO) : สินค้าที่เข้ามาก่อนจะถูกขายออกไปก่อน เหมาะกับกรณีที่ค่าวัตถุดิบเปลี่ยนอยู่ตลอด สินค้าเสียง่าย 2. วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average) : เฉลี่ยต้นทุนให้กับสินค้าทุกหน่วยเท่า ๆ กัน เหมาะกับสินค้าขายปลีกที่นับจำนวนสินค้าได้ 3. วิธีคิดราคาทุนที่ระบุเฉพาะ (Specific Identification) : คำนวณมูลค่าสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง เหมาะกับสินค้าที่แยกไว้เฉพาะสำหรับโครงการ สินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ สินค้าราคาสูง ดังนั้นการเลือกวิธีการบันทึกและรายงานจำนวนและมูลค่าของสินค้าคงเหลือที่เหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจ จะช่วยให้การแสดงผลในงบการเงินมีความถูกต้องและสะท้อนฐานะทางการเงินของกิจการได้อย่างแท้จริง โดยในส่วนของการวัดมูลค่าต้นทุนของสินค้านั้น จะเป็นการรวบรวมข้อมูลต้นทุนตามลักษณะของการจัดการและการเกิดขึ้นของต้นทุนใน 3 รูปแบบข้างต้น และใช้หลัก “ราคาทุน” ในการสรุปราคา โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยรายการดังต่อไปนี้ • ค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (มักจะอ้างอิงจากราคาที่ซื้อตามใบกำกับภาษีจากผู้ขาย) • ค่าแรงในการผลิต (คิดคำนวณจากค่าจ้างรายวันหรือรายเดือน) • ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ได้จ่ายไปเพื่อให้ได้สินค้านั้นมา เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยสินค้าระหว่างขนส่ง ค่าภาษีอากร เป็นต้น แต่ในส่วนนี้ค่าใช้จ่ายภายหลังการได้สินค้าสำเร็จรูปแล้ว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมพร้อมการขายจะไม่ถูกจัดประเภทรวมเป็นต้นทุนของสินค้า แต่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการขายในรอบระยะเวลารายงานที่ค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้น หากจะมองต้นทุนของสินค้าไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อขายเองหรือการซื้อมาขายไป สิ่งหนึ่งที่มีธรรมชาติเหมือนกันในงานทางบัญชี คือ มีความประสงค์ต้องการสะท้อนข้อมูลต้นทุนการจัดหาที่เป็นไปตามข้อเท็จจริงของการบริหารความเสี่ยงและการบริหารจัดการต้นทุนของฝ่ายจัดการ ดังนั้นเทคนิคการบริหารต้นทุนสินค้าไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นการจัดซื้อจนไปถึงฟังก์ชั่นการบริหารคลังสินค้า จึงควรเป็นสิ่งที่นักบัญชีการเงินควรได้ตระหนักถึงในการทำต้นทุนและสรุปเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องมีในรายงานงบการเงินหรือรายงานทางการเงินอื่น ๆ เพื่อการบริหารจัดการ
จากบทความ : การบัญชีสินค้าคงเหลือ ข้อมูลสำคัญนักบัญชีต้องจัดการ โดย : วิทยา เอกวิรุฬห์พร/ Section : Accounting Style / Column : CPD Talk อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 251 เดือนพฤศจิกายน 2567
|
|
|
|
|
|
|