ความเท่าเทียมในการบริหารค่าตอบแทน ต้องตรวจสอบอะไรบ้าง
โดย
|
|
ความเท่าเทียมในการบริหารค่าตอบแทน ต้องตรวจสอบอะไรบ้าง
|
• Equal Pay for Equal Work ค่าจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานที่เท่ากัน ให้แน่ใจว่าพนักงานในตำแหน่งงานเดียวกัน ที่มีประสบการณ์และคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน เป็นหลักการพื้นฐานของความเป็นธรรมในสถานที่ทำงาน ซึ่งวิธีการตรวจสอบก็ต้องอาศัยการประเมินค่างานเป็นพื้นฐานว่า เท่าเทียมกันหรือไม่ในความยากง่ายของงาน ต้องพิจารณาจากหน้าที่และความรับผิดชอบของงาน ภาระงาน ผลกระทบเชิงบวกของงานแต่ละตำแหน่ง เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่างานที่พนักงานทำอยู่นั้นจะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามความยากง่ายของงาน มากกว่าที่จะได้สูงต่ำกันไปตามเพศ อายุ ความชอบส่วนตัว ฯลฯ
• ความโปร่งใส องค์กรมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการโปร่งใสมากขึ้นในการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างของพนักงานหรือไม่ มีที่มาที่ไปของโครงสร้างเงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ ไม่มีพนักงานคนไหนที่ได้สิทธิพิเศษแปลกๆ ตามความชอบส่วนตัวของผู้บริหาร ไม่มีการเลือกปฏิบัติในการบริหารค่าจ้างกับพนักงานในองค์กร ทุกคนได้ในระบบที่องค์กรออกแบบไว้ อีกทั้งยังต้องมีการวางแนวทางในการสื่อสารเรื่องของการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างตรงไปตรงมา อะไรที่เปิดเผยได้ก็ทำให้ชัดเจน อะไรที่ต้องรักษาเป็นความลับไว้ ก็แจ้งกับพนักงานถึงสาเหตุและเหตุผลที่ต้องทำแบบนั้น เพื่อไม่ให้พนักงานไปพูดกันเอง คิดไปกันเอง จากนั้นความรู้สึกไม่เป็นธรรมก็จะเกิดขึ้นในจิตใจของพนักงาน โดยที่องค์กรอาจจะไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแค่ไม่สื่อสารให้เข้าใจกันเท่านั้น
• สร้างระบบการตรวจสอบเป็นประจำ สร้างระบบให้มีการดำเนินการตรวจสอบเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการเป็นประจำ ทั้งในแง่ค่างาน การแข่งขันกับภายนอก และความเป็นธรรมในด้านต่างๆ เช่น การตอบแทนผลงานพนักงาน ว่าเป็นไปตามผลงานจริงๆ หรือไม่ เพื่อประเมินหาความเสี่ยง และวางแนวทางในการแก้ไขความไม่สอดคล้องใดๆ ที่อาจบ่งชี้ถึงความไม่เท่าเทียมกันในการจ่ายค่าจ้าง
• การปฏิบัติตามกฎหมาย เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ HR ต้องใส่ใจให้มากก็คือ การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ในเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนพนักงาน จะต้องไม่ให้เกิดความเสี่ยงทางด้านความผิดตามกฎหมาย แม้เราอาจจะคิดว่าไม่มีใครรู้หรอก แต่เดี๋ยวนี้พนักงานสามารถนำเรื่องราวที่ไม่ดีของบริษัทไปโพสต์ ไปร้องเรียนกับหน่วยงานอื่นๆ ภายนอกได้ไม่ยาก ถ้าเราไม่ป้องกันไว้ก่อน ทำให้มันถูกต้อง ถึงเวลาที่พนักงานไปร้องเรียนขึ้นมา เราจะเสียหายหนักกว่าที่เราคิดหลายเท่านัก ดังนั้น องค์กรจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการ Audit ตรวจสอบในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย
เมื่อองค์กรดำเนินการเรื่องนี้จริงจัง ถึงช่วงปลายปีจะต้องมีการประเมินดูว่าผลลัพธ์ของการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างไรบ้าง โดยการทำการสำรวจความคิดเห็นจากพนักงานกลุ่มต่างๆ ในเรื่องความเป็นธรรม ในการจ่ายค่าตอบแทนว่ารู้สึกอย่างไรกันบ้าง เพื่อจะได้ข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีถัดๆ ไป
บางส่วนจากบทความ : สมการค่าจ้างที่เป็นธรรม ผสานความเท่าเทียมกับการจ่ายค่าตอบแทนที่ เป็นธรรมและยั่งยืน โดย : ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร / Section : HRM/HRD / Column : ครบเครื่องเรื่องค่าตอบแทน อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 262 เดือนตุลาคม 2567
|
|
|
|
|
|
|