หลักเกณฑ์ที่ถือว่า นายจ้างให้อภัยแก่ความประพฤติผิดของลูกจ้าง
โดย
|
|
หลักเกณฑ์ที่ถือว่า นายจ้างให้อภัยแก่ความประพฤติผิดของลูกจ้าง
|
การให้อภัยของนายจ้าง ต่อการกระทำผิดของลูกจ้าง (Employer Condonation for Misconduct of Employee) เป็นหลักความคิดที่ใช้กับเรื่องความรับผิดทางวินัยเท่านั้น ไม่ได้นำหลักคิดนี้ไปใช้กับความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญาด้วย สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะถือได้ว่านายจ้างให้อภัยแก่ความประพฤติผิดของลูกจ้างแล้ว มีดังนี้ 1. ลูกจ้างทำผิดวินัย การฝ่าฝืนทำผิดทางวินัยของลูกจ้าง อาจเป็นวินัยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เช่น ป.พ.พ. มาตรา 583 กำหนดหน้าที่ของลูกจ้าง โดยลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ไม่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่กระทำผิดร้ายแรง ไม่กระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต หากลูกจ้างฝ่าฝืน ถือว่าทำผิดทางวินัย นายจ้างลงโทษทางวินัยได้ นอกจากนี้ วินัยอาจเกิดจากความตกลงร่วมกันของนายจ้างกับลูกจ้าง เช่น นายจ้างกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ในหมวดวินัยและโทษทางวินัยว่า “พนักงานต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัย ดังต่อไปนี้ (1) พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต (2) พนักงานต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา (3) พนักงานต้องปฏิบัติงานตรงต่อเวลา ไม่มาทำงานสาย กลับก่อน...” ลูกจ้างมีความผูกพันต้องปฏิบัติตามวินัยที่ตกลงไว้กับนายจ้าง หากยังไม่มีการกระทำผิดทางวินัย ย่อมไม่อาจเกิดการให้อภัยโดยนายจ้าง
2. นายจ้างรู้ถึงการกระทำผิดวินัยของลูกจ้าง (Employer has Full Knowledge of the Employee’s Misconduct) หากลูกจ้างทำผิดวินัย แต่นายจ้างยังไม่รู้ถึงการกระทำความผิดของลูกจ้าง การให้อภัยของนายจ้างต่อลูกจ้างยังเกิดขึ้นไม่ได้ การที่ลูกจ้างทำผิดวินัย แต่นายจ้างไม่ทราบถึงการกระทำผิด แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ภายหลังเมื่อนายจ้างรู้ถึงการกระทำผิดวินัยของลูกจ้าง หากลูกจ้างยังมีสถานะเป็นลูกจ้างของนายจ้าง นายจ้างมีสิทธิลงโทษทางวินัยได้ เวลาที่ผ่านไปเนิ่นนาน ไม่ได้มีผลเท่ากับนายจ้างได้ให้อภัยลูกจ้างโดยปริยาย เพราะนายจ้างไม่ทราบความผิดทางวินัยของลูกจ้าง จึงให้อภัยลูกจ้างไม่ได้ จะเห็นได้ว่าความผิดทางแพ่งและทางอาญามีอายุความฟ้องคดี แต่การลงโทษทางวินัยไม่ได้มีอายุความ
3. นายจ้างไม่ได้ดำเนินการตามสมควรเพื่อลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้าง เมื่อเกิดการทำผิดวินัยโดยลูกจ้าง และนายจ้างรู้ถึงการกระทำความผิดของลูกจ้างแล้ว นายจ้างไม่ได้ดำเนินการลงโทษทางวินัย หรือเลิกจ้างลูกจ้างภายในระยะเวลาอันสมควร อาจถือได้ว่านายจ้างได้ให้อภัยต่อการกระทำผิดวินัยของลูกจ้างแล้ว หากไม่มีข้อเท็จจริงอะไรใหม่ นายจ้างจะนำความผิดที่ให้อภัยแล้วมาลงโทษ หรือเลิกจ้างลูกจ้างอีกไม่ได้ เช่น ลูกจ้างเป็นพนักงานขับรถ ขับรถบรรทุกของนายจ้างประมาทเลินเล่อจนเกิดอุบัติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 นายจ้างทราบเรื่องการกระทำผิดของลูกจ้าง แล้วปล่อยให้ลูกจ้างทำงานต่อมานาน 1 ปีเศษ โดยไม่ลงโทษลูกจ้าง ส่วนความเสียหายทางแพ่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตั้งบัญชีลูกหนี้ไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวของนายจ้างถือว่าไม่ติดใจลงโทษทางวินัยลูกจ้างแล้ว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 379/2551)
4. นายจ้างมีพฤติการณ์ในการให้อภัย ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายต่อการกระทำผิดวินัยของลูกจ้างแล้ว เมื่อนายจ้างทราบการกระทำผิดวินัยของลูกจ้าง ยังติดใจลงโทษ แต่ใช้เวลาตรวจสอบการกระทำผิดของลูกจ้างในส่วนอื่น จะถือว่านายจ้างให้อภัยลูกจ้างไม่ได้ เพราะนายจ้างยังติดใจลงโทษ ในทางตรงข้าม หากนายจ้างทราบการกระทำผิดวินัยของนายจ้างแล้ว นายจ้างแสดงการให้อภัยโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ไม่ติดใจลงโทษลูกจ้างอีกต่อไป ถือว่านายจ้างให้อภัยลูกจ้างแล้ว
บางส่วนจากบทความ : การให้อภัยในการกระทำผิดทางวินัยของลูกจ้าง (Employer Condonation of Employee’s misconduct) โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่... วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 262 เดือนตุลาคม 2567
|
|
|
|
|
|
|