Negative Income TAX

โดย

 


 
Negative Income TAX


     หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ Negative Income TAX ครั้งแรก หลังจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงเรื่องนี้ในงาน Vision for Thailand 2024 ถึงการปฏิรูประบบภาษีของไทยไปสู่ระบบ Negative Income Tax เพื่อปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับประชาชนให้มากขึ้น
     โดยแนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) เจ้าของคำพูดที่โด่งดังว่า “There's no such thing as a free lunch” หรือในภาษาไทยว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ”
     ฟรีดแมนเสนอแนวคิดเรื่องนี้เพื่อใช้ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนในสังคม โดยการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยแทนที่จะเก็บภาษีจากพวกเขา ซึ่งแนวคิดนี้ต้องการสนับสนุนให้คนที่มีรายได้ต่ำมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการช่วยเหลือของรัฐ เพื่อให้มีโอกาสที่มากขึ้นหรือมีรายได้ในระดับที่เพียงพอในการใช้ชีวิต
     หากลองคิดภาพถึงระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยที่ใช้วิธีการคำนวณหลักอย่างวิธีเงินได้สุทธิ กำหนดให้ผู้ที่มีคำนวณแล้วมีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี คือ ตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป และปรับเพิ่มขึ้นตามขั้นบันไดของอัตราภาษี (อัตราก้าวหน้า) ไปจนถึง 35% ซึ่งการจัดเก็บภาษีแบบนี้ผู้ที่มีเงินได้สุทธิมากย่อมต้องเสียภาษีมาก แต่ผู้ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นั้นจะไม่ได้รับอะไรเป็นการชดเชยจากรัฐ ซึ่ง Negative Income TAX เรียกได้ว่าจะเป็นตัวตรงกันข้ามกับหลักคิดนี้ นั่นคือ มองว่าผู้ที่ไม่เสียภาษีเงินได้ แต่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ควรได้รับ “เงินชดเชย” (ภาษี) กลับไปนั่นเองครับ
     โดยหลักการแล้ว แนวคิดนี้จะมีการกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำ และเงื่อนไขที่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าวจากรัฐเป็นอัตราส่วน โดยพิจารณว่าหากบุคคลใดมีรายได้ต่ำกว่าระดับนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ เช่น กำหนดระดับรายได้ไว้ที่ 10,000 บาทต่อปี หากมีรายได้ 7,000 บาท รัฐบาลจะจ่ายเพิ่มอีก 3,000 บาท เพื่อให้ถึงระดับ 10,000 บาทที่กำหนดไว้
     อย่างไรก็ดี การชดเชยนี้จะลดลงตามสัดส่วนของรายได้เมื่อบุคคลมีรายได้มากขึ้น จนกระทั่งไม่ต้องการการชดเชยอีกต่อไป
     จะเห็นได้ว่าจุดประสงค์หลักของแนวคิดดังกล่าว คือ การลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมผ่านการสนับสนุนรายได้ให้กับคนที่มีรายได้น้อยนั่นเอง
     ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้ว หากถามว่าแนวคิดนี้เหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ผมมองว่าอาจจะมีหลายส่วนที่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบภาษีที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถจัดสรรงบประมาณในการจ่ายชดเชยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงความมั่นคงเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมที่ยอมรับการปฏิรูปสวัสดิการ NIT ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ติดตามกันต่อไป


จากบทความ : รู้จักกับ Negative Income TAX แนวคิดภาษีที่น่าสนใจ
โดย : TAX Bugnoms/ Section : Tax Talk / Column : Tax Knowledge /
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 250 เดือนตุลาคม 2567

 
 


 

FaLang translation system by Faboba