10 สัญญาณบัญชีสินค้ามีปัญหา
โดย
|
|
10 สัญญาณบัญชีสินค้ามีปัญหา
|
สำหรับสัญญาณเตือนภัยที่กำลังแสดงให้เห็นว่าบัญชีสินค้าขององค์กรอาจจะกำลังมีปัญหาเกิดขึ้นมีดังนี้ 1. ปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงของปริมาณสินค้าที่ไม่สัมพันธ์กับยอดขาย เช่น สินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยอดขายสินค้ารายการนั้นไม่เพิ่มขึ้น หรือหากสินค้าคงเหลือลดลงอย่างรวดเร็วเกินไป อาจจะบอกถึงปัญหาสินค้าที่จะมีไม่เพียงพอต่อการขายหรืออาจจะมีการเบิกออกไปใช้ผิดปกติ
2. ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่องหากยอดขายสินค้าบางรายการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจจะเป็นสัญญาณว่าสินค้านั้นอาจจะมีปัญหา เช่น สินค้าไม่ตอบสนองลูกค้า คุณภาพสินค้าที่ไม่ดี สินค้าของคู่แข่งดีกว่า หรือความต้องการของตลาดเปลี่ยนแปลงไป
3. ปัญหาการรับคืนสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาจจะเป็นสัญญาณว่าสินค้ากำลังมีปัญหาด้านคุณภาพ การผลิต หรือการจัดส่ง
4. ความผิดปกติในกระบวนการผลิตหรือการจัดส่ง การผลิตสินค้าออกมาไม่ได้มาตรฐาน (มีของเสียจำนวนมาก) หรือการจัดส่งที่ล่าช้ากว่ากำหนด อาจจะเป็นสัญญาณว่ามีปัญหาในสายการผลิตหรือปัญหาจากแหล่งสินค้าที่มาจาก Supplier
5. ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนสินค้าที่การจัดการสูงขึ้น หากไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนอาจจะเป็นสัญญาณว่ามีปัญหาการบริหารการผลิต การบริหารการจัดการสินค้า หรือการจัดซื้อ
6. การขายลดราคาสินค้าต่ำกว่าทุน หากสินค้าต้องถูกนำมาลดราคาบ่อยครั้งหรือนำมาลดจำนวนมาก อาจจะเป็นสัญญาณว่าสินค้านั้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือมีปัญหาด้านคุณภาพ
7. สินค้าล้าสมัย ค้างสต็อกนานเกินไป สินค้านี้จะกลายเป็นปัญหาต้นทุนจมและกระทบต่อกระแสเงินสดขององค์กรได้
8. การนำสินค้ามาขายลดราคาให้กับพนักงานในราคาถูก สัญญาณเตือนภัยนี้จะคล้ายกับข้อที่ 6 ซึ่งสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังคืออาจเกิดทุจริต กล่าวคือ ตั้งใจจะซื้อสินค้าหรือผลิตสินค้าปริมาณมากเกินกว่าแผนที่กำหนด เพื่อจะได้นำสินค้าที่เกินความต้องการออกมาขายลดราคาหรือขายราคาถูกให้กับพนักงาน และก็อาจจะมีตัวแทนอำพราง (Nominee) หรือพนักงานของบริษัทมากว้านซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อ
9. การเปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาด กลุ่มลูกค้ามีความต้องการเปลี่ยนแปลงไปหรือมีคู่แข่งใหม่เข้ามาแข่งขัน อาจจะกระทบต่อความสามารถในการขายสินค้าและสต็อกสินค้าคงเหลือ
10. การตรวจนับสินค้าปรากฏว่าสินค้าขาดสต็อกอย่างเป็นสาระสำคัญ สัญญาณนี้กำลังบ่งชี้ถึงปัญหาระบบการควบคุมภายในหรือความปลอดภัยของคลังสินค้า ซึ่งอาจเกิดการทุจริตแฝงอยู่ ตัวอย่างเช่น เกิดการร่วมมือกับพนักงานจัดส่งของ Supplier ตั้งใจรับสินค้าขาด แต่แจ้งว่าตรวจรับสินค้าครบ ส่วนสินค้าก็แอบเอาไปขายแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน
จากบทความ : การบริหารความเสี่ยงบัญชีสินค้า โดย : Mr. Knowing/ Section : Accounting Style / Column : CPD Coach อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่... วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 250 เดือนตุลาคม 2567
|
|
|
|
|
|
|