เป็นลูกจ้างวันเดียว...ตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะได้สิทธิคุ้มครองกองทุนเงินทดแทนหรือไม่?
โดย
 |
|
เป็นลูกจ้างวันเดียว...ตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครอง ความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะได้สิทธิคุ้มครองกองทุนเงินทดแทนหรือไม่?
|
การที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะถือเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือไม่? จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งสาเหตุเบื้องหลังของการประสบอันตราย และการกระทำที่เกิดเหตุให้ประสบอันตราย • กรณีลูกจ้าง “ประมาทเลินเล่อ” ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้ตนเองประสบอันตรายไว้ ดังนั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างขาดความระมัดระวัง ลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน • กรณีลูกจ้าง “จงใจ” หรือมีส่วนทำให้เกิดอันตรายเองด้วย หรือลูกจ้างยอมเสี่ยงภัยเอง ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างเข้าทำงานวันแรก และไม่รู้โดยสุจริตถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ และไม่มีพี่เลี้ยงหรือหัวหน้างานแจ้ง หรือกำชับให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กรณีนี้ก็อาจถือได้ว่า ไม่ได้เป็นการ “จงใจ” ให้ตนเองประสบอันตราย หรือมีส่วนทำให้เกิดอันตรายเอง หรือยอมเสี่ยงภัยเอง เช่นข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1898/2523 กรณีเรือประมงที่เข้าไปจับปลาในน่านน้ำประเทศกัมพูชามิได้ถูกยิงเสมอไป ผู้นำเรือเข้าไปจับปลาจึงไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจะต้องถูกยิง หรือน่าจะถูกยิงได้รับอันตรายหรือถึงแก่ความตายโดยแน่แท้ การที่ผู้ตายซึ่งเป็นไต้ก๋งเรือประมงของโจทก์ (นายจ้าง) นำเรือเข้าไปจับปลาในน่านน้ำดังกล่าว แล้วถูกยิงถึงแก่ความตาย จึงมิใช่ผู้ตายประสบอันตรายเพราะเหตุจงใจให้ตนเองประสบอันตราย จึงต้องจ่ายค่าทดแทน แต่ถ้าลูกจ้างได้รู้กฎ ระเบียบ รู้สภาพการทำงาน ลักษณะงาน หรือเพียงแค่เล็งเห็นได้ว่าจะเกิดอันตรายได้หากไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย หรือการกระทำมีลักษณะเป็นการโอ้อวดตนเองว่าอยู่ยงคงกระพัน สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอันตรายใดๆ กรณีนี้อาจถือว่าเป็นการ “จงใจ” ทำให้ตนเองประสบอันตรายก็ได้ กรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ หากเกิดจากการที่ลูกจ้างเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดจนครองสติไม่ได้ และการไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยเป็นผลจากอาการเสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติด และทำให้ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ลูกจ้างจึงอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ดังนั้น ปัญหาว่า ลูกจ้างถึงแก่ความตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หากลูกจ้างประมาทเลินเล่อ ไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย หรือเกิดจากความไม่รู้โดยสุจริตของลูกจ้างเอง ลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครอง แต่หากลูกจ้างจงใจหรือมีส่วนทำให้เกิดอันตรายหรือยอมเอาตนเข้าเสี่ยงภัยเอง ซึ่งหากพฤติกรรมมีลักษณะเป็นการจงใจ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม
บางส่วนจากบทความ : เป็นลูกจ้างวันเดียว...ตาย!! เพราะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย ที่นายจ้างจัดไว้ให้ จะได้สิทธิคุ้มครองกองทุนเงินทดแทนหรือไม่? โดย : ปรานี สุขศรี / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : ประกันสังคม อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่... วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 261 เดือนกันยายน 2567
|
|
|
|
|
|

|