การหักค่าจ้างของลูกจ้าง
โดย
|
นายจ้างสามารถหักค่าจ้างลูกจ้างได้ไหม และจะหักด้วยเหตุกรณีใดได้บ้าง หักได้แค่ไหน อย่างไร เช่น การหักเพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายแก่นายจ้าง การหักเพื่อเป็นเงินประกันการทำงาน เป็นต้น ซึ่งลูกจ้างส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วย อย่างไรแล้วหนี้ใดบ้างที่หักได้ กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติเรื่องของการหักค่าจ้างไว้ ดังนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่าย หรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ (2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน (3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง (5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณี ห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง” “มาตรา 77 ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 45 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือ และให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอม หรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ”
เมื่อพิจารณาจากบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้ที่ลูกจ้างมีต่อนายจ้าง โดยต้องการให้ลูกจ้างนั้นได้รับเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ไม่ให้มีการนำหนี้ใดๆ มาหักจากค่าจ้าง กรณีนี้ หากนายจ้างมีหนี้อยู่กับลูกจ้างเป็นการส่วนตัว เช่น นายจ้างให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินส่วนตัว 20,000 บาท ตกลงให้ลูกจ้างผ่อนชำระเป็นงวดๆ 5 งวด ภายในวันที่ 30 ของแต่ละงวด ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้ในงวดที่ 3 ลูกจ้างไม่ชำระหนี้ดังกล่าว นายจ้างจึงนำหนี้เงินยืมดังกล่าวมาหักจากค่าจ้าง และค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากนายจ้าง กรณีนี้ นายจ้างจะนำหนี้ที่มีอยู่นั้นมาหักจากเงินดังกล่าวไม่ได้ กรณีข้อยกเว้นที่นายจ้างสามารถหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้ จะเป็นไปตามแต่ละประเภทที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจนายจ้างสามารถใช้สิทธิหักได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน และบางประเภทที่นายจ้างจะหักได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเท่านั้น
บางส่วนจากบทความ : การหักค่าจ้างของลูกจ้าง โดย : ณัฏฐณิชา เกื้อจรูญ (นักกฎหมาย สำนักกฎหมายธรรมนิติ) / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : เรื่องข้นคน HR อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 260 เดือนสิงหาคม 2567
|
|
|
|
|
|
|