ข้อห้ามเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง
โดย
![](/images/content/2024/articleAUG24-05.jpg) |
|
ข้อห้ามเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง
|
กรรมการลูกจ้าง คือใคร ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ลูกจ้างอาจจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างเพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้าง (พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 45) ตามความคิดแรงงานสัมพันธ์สมัยใหม่ที่ต้องการให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ (Workers’ Participation in Management) สำหรับจำนวนกรรมการลูกจ้างในคณะกรรมการลูกจ้าง จะเป็นไปตามจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นๆ ตั้งแต่ 5 คน จนถึง 21 คน (พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 46) และการกระทำดังต่อไปนี้ นายจ้างจะกระทำต่อกรรมการลูกจ้างไม่ได้ นายจ้างจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อน ได้แก่ เลิกจ้าง หมายถึง นายจ้างจะแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างกรรมการลูกจ้างโดยลำพังไม่ได้ ถึงแม้ว่ากรรมการลูกจ้างจะกระทำความผิดปรากฏชัดแจ้งก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นายจ้างใช้สิทธิเลิกจ้างเพื่อกลั่นแกล้งกรรมการลูกจ้าง นายจ้างจะต้องร้องขอต่อศาลแรงงานและพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ากรรมการลูกจ้างกระทำผิดจริง หากศาลเห็นว่ามีเหตุที่สมควรและเพียงพอ ก็จะมีคำสั่งอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ คดีเรื่องหนึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้กรรมการลูกจ้างจะกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 แต่การที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อน (คำพิพากษาฎีกาที่ 3285/2525) ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ศาลแรงงานอนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ กรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ออกหนังสือเวียนแจ้งลูกค้าของนายจ้าง ทำให้ลูกค้างดใช้หรือลังเลที่จะใช้บริการของนายจ้าง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นและผ่านขั้นตอนการเจรจาแล้วแต่ไม่เป็นผล สหภาพแรงงานย่อมมีสิทธิเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้สหภาพแรงงานออกหนังสือเวียนแจ้งให้ลูกค้าของนายจ้างทราบถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่สหภาพแรงงานอ้างว่าจะเกิดขึ้นโดยการกระทำของตนเอง จนเป็นเหตุให้ลูกค้าของนายจ้างงดใช้หรือลังเลที่จะใช้บริการ อันเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อคณะกรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการบริหารของสหภาพแรงงานออกหนังสือดังกล่าว จึงถือได้ว่าจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2842/2529) นายจ้างไม่มีงานให้กรรมการลูกจ้างทำ ถือว่ามีเหตุที่สมควร นายจ้างเลิกจ้างได้ นายจ้างจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการโรงแรมเพื่อรื้อถอนและปลูกโรงแรมใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี มีผลทำให้งานประจำของกรรมการลูกจ้างในโรงแรมต้องหยุดโดยปริยาย นายจ้างไม่มีงานใดๆ ให้กรรมการลูกจ้างทำอีกต่อไป ดังนั้น นายจ้างจึงมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1849/2531) ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ยังไม่มีเหตุอันสมควรให้ลงโทษ หรือเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ใบปลิวที่แจกเป็นของสหภาพและไม่มีข้อความผิดระเบียบ ยังไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง อ้างว่าแจกจ่ายใบปลิวปลุกปั่นยั่วยุลูกจ้างอื่นให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าใบปลิวดังกล่าวเป็นของสหภาพแรงงานและข้อความก็ไม่ได้ผิดระเบียบข้อบังคับที่นายจ้างอ้างแต่ประการใด ศาลแรงงานไม่อนุญาตให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 579/2524) นายจ้างขาดทุนแต่ยังไม่ถึงกับยุบหน่วยงานหรือเลิกกิจการ ยังไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างประสบปัญหาขาดทุนจนต้องลดการผลิต แต่ยังไม่ถึงกับยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วย หรือเลิกกิจการไป ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอและสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้าง อนุกรรมการ และกรรมการสหภาพแรงงานได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3861/2524) หยุดงานเพื่อดูแลมารดาที่ต่างจังหวัด ยังไม่สมควรให้เลิกจ้าง มารดากรรมการลูกจ้างป่วยอยู่ต่างจังหวัด กรรมการลูกจ้างได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ลากิจได้ 3 วัน ก่อนครบกำหนดลา กรรมการลูกจ้างโทรเลขมาถึงเพื่อนร่วมงานให้แจ้งผู้บังคับบัญชาว่ามารดายังไม่หายป่วย และกรรมการลูกจ้างอยู่รักษาพยาบาลมารดาอีก 12 วัน โดยไม่ได้ลา เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควร นายจ้างจะขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเพราะเหตุนี้ไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3651/2529)
บางส่วนจากบทความ : ข้อห้ามเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 260 เดือนสิงหาคม 2567
|
|
|
|
|
|
![](https://www.dst.co.th/images/hilight/Member/banner-01.webp)
|