การรับรู้รายการของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน

โดย

 


 
การรับรู้รายการของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน


     การลงทุนเพื่อหาประโยชน์จากจำนวนเงินที่นำมาลงทุนนั้น นอกจากจะลงทุนในหลักทรัพย์ หุ้นกู้ ฝากธนาคารแล้ว ยังมีการลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนค่อนข้างสูงและมั่นคง นั่นก็คือ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยการนำที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคารไปหาประโยชน์ เช่น นำไปทำบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม สำนักงานให้เช่า หอพัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกิจการ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยการนำที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคารไปให้เช่า ที่มิใช่เพื่อนำไปใช้ในการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ ไม่ได้มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารงานจะถือเป็น “อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน”
     มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ บทที่ 12 เรื่อง อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ของสภาวิชาชีพบัญชี ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
     อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองเพื่อหาประโยชน์จากรายได้ค่าเช่า หรือจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์ หรือทั้ง 2 อย่าง ทั้งนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ในการผลิตหรือจัดหาสินค้าหรือให้บริการ หรือใช้ในการบริหารงานของกิจการ หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเพื่อการประกอบธุรกิจตามปกติ เช่น ที่ดิน หรือ อาคาร หรือส่วนของอาคาร (ส่วนควบอาคาร) หรือทั้งที่ดินและอาคาร
     ดังนั้นหากกิจการนำอสังหาริมทรัพย์ไปให้เช่าหรือไปหาประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นในมูลค่าของสินทรัพย์ จึงถือเป็นการนำอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน เป็นการถือครองในระยะยาวที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อขาย โดยหวังที่จะได้รับกำไรจากการเพิ่มมูลค่าของที่ดินในอนาคต เช่น มีไว้เพื่อให้เช่า
     การรับรู้รายการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน
     เมื่อกิจการมีที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคารเพื่อการลงทุน กิจการจะต้องรับรู้เป็นสินทรัพย์โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขครบทุกข้อ ดังต่อไปนี้
     1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต
     2. สามารถวัดราคาทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ
     กิจการจะรับรู้เป็นสินทรัพย์เมื่อสินทรัพย์นั้นสร้างเสร็จสมบูรณ์และพร้อมที่ใช้งาน โดยคำนวณต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนได้ การวัดมูลค่าเริ่มแรกของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนจะคำนวณด้วยราคาทุน ซึ่งประกอบไปด้วยราคาที่ซื้อและรายจ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินทรัพย์ ต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนไม่รวมถึงต้นทุนก่อนการดำเนินงาน เว้นแต่รายจ่ายที่จำเป็นที่จะทำให้อสังหาริมทรัพย์นั้นพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์
     ข้อสังเกต การที่กิจการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน กิจการจะถือเป็นสินทรัพย์นำไปคำนวณค่าเสื่อมราคา ยกเว้นมูลค่าของที่ดิน ซึ่งประกอบไปด้วยราคาที่ซื้อบวกด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดหาสินทรัพย์ ซึ่งหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับประมวลรัษฎากร



จากบทความ : อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน แนวทางการบันทึกบัญชี
โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร / Section : Tax Talk / Column : Tax & Accounting
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 248 เดือนสิงหาคม 2567

 
 


 

FaLang translation system by Faboba