กฎหมายการจ้างงานในต่างประเทศ และการทำงานในต่างประเทศ
โดย
|
|
กฎหมายการจ้างงานในต่างประเทศ และการทำงานในต่างประเทศ
|
เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในต่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบการย่อมมีความจำเป็นต้องมีบุคลากรที่จะทำงานในนิติบุคคลดังกล่าว ซึ่งอาจมีทั้งกรณีการว่าจ้างแรงงานในประเทศดังกล่าว และการส่งพนักงานสัญชาติไทยของตนไปทำงานในประเทศนั้น ๆ ซึ่งในกรณีดังกล่าว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการว่าจ้างงานตามที่กำหนดไว้ในประเทศดังกล่าว โดยอาจแบ่งการพิจารณาหัวข้อสำคัญเป็น 2 ส่วนหลักคือ (1) กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ละประเทศย่อมมีกรอบกฎหมายที่แตกต่างกันไปในส่วนของการออกกฎหมายมาเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่จะมีการว่าจ้างงานในประเทศ และย่อมนำไปสู่ความแตกต่างในส่วนของหน้าที่ที่ผู้ประกอบการในฐานะนายจ้างต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องพิจารณากรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังกล่าวเพื่อให้ตนสามารถดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดข้อพิพาททางแรงงานหรือความรับผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อกฎหมายที่สำคัญรวมถึงข้อกำหนดการทำงาน เช่น ชั่วโมงการทำงานสูงสุด การกำหนดวันลา/วันหยุด การจ่ายค่าแรงงาน ค่าล่วงเวลา และข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ สวัสดิการพื้นฐานที่ต้องจัดหาให้ตามกฎหมาย การเลิกจ้าง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ (Operating Cost) ที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเพิ่มเติม (2) กฎหมายเกี่ยวกับว่าจ้างแรงงานต่างประเทศ ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ย่อมมีความจำเป็นที่อาจต้องมีการนำพนักงานหรือบุคลากรจากประเทศไทยไปทำงานในต่างประเทศดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นในตำแหน่งกรรมการหรือตำแหน่งบุคลากรอื่น ซึ่งการจะดำเนินการส่งแรงงานหรือบุคลากรดังกล่าวไปทำงานในประเทศนั้น ผู้ประกอบการต้องพิจารณากรอบกฎหมายเกี่ยวกับการว่าจ้างแรงงานต่างประเทศให้ละเอียดก่อน โดยเฉพาะในหัวข้อดังนี้ (ก) ข้อกำหนดการจ้างแรงงานต่างประเทศ ซึ่งบางประเทศอาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการว่าจ้างแรงงานต่างประเทศที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม เช่น การกำหนดสัดส่วนการจ้างงานพนักงานภายในประเทศต่อการว่าจ้างแรงงานต่างประเทศ การกำหนดการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทเพื่อรองรับการว่าจ้างแรงงานต่างประเทศ หรือการกำหนดเกี่ยวกับการส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างบุคลากรต่างประเทศและแรงงานในประเทศ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเงื่อนไขดังกล่าวสำคัญต่อการพิจารณาการส่งแรงงานไปทำงาน ทั้งนี้ บางประเภทธุรกิจที่ใช้เทคนิคพิเศษที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยแรงงานต่างประเทศอาจต้องพิจารณาเงื่อนไขการนำเข้าแรงงานต่างประเทศดังกล่าวอย่างละเอียดก่อนว่าจะสามารถดำเนินการได้เพียงใด (ข) ข้อกำหนดการขอใบอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างประเทศ โดยหลักการทั่วไป ทุกประเทศจะมีการกำหนดข้อกฎหมายให้แรงงานต่างประเทศที่จะมาทำงานในประเทศของตนต้องขอวีซ่าสำหรับการทำงานและขอใบอนุญาตการทำงานก่อนจึงจะสามารถมาทำงานในประเทศนั้น ๆ ได้ ซึ่งผู้ประกอบการต้องพิจารณาทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนด ขั้นตอน ระยะเวลา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการขอใบอนุญาตการทำงานเพื่อประเมินจำนวน Workforce ที่จะส่งมาเพื่อการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศดังกล่าว
จากบทความ 5 ประเด็นกฎหมาย ต้องศึกษาก่อนไปลงทุนในต่างประเทศ/ Section: Laws & News / Column: Business Law อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 515 เดือนสิงหาคม 2567 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index
|
|
|
|
|
|
|