ประเด็นความเสี่ยงในงบการเงิน

โดย

 


 
ประเด็นความเสี่ยงในงบการเงิน


      ในยุคปัจจุบัน การจัดทำงบการเงินอย่างถูกต้องและโปร่งใสถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเจ้าของธุรกิจ แต่ด้วยความเข้าใจผิดหรือความไม่รู้ในหลาย ๆ ครั้ง มักจะนำไปสู่ปัญหาภาษีที่มีผลกระทบอยู่เสมอ ผมเลยตั้งใจจะชวนมาวิเคราะห์ในประเด็นนี้อีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้เราเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งว่าสุดท้ายแล้วปัญหามันคืออะไร และผู้ประกอบการรวมถึงนักบัญชีจะช่วยกันแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ดังนั้นเรามาเริ่มกันเลยครับ
      1. การใช้เงินสดเป็นหลักในการประกอบกิจการ ต้องบอกกันตรง ๆ ว่าการใช้เงินสดเป็นหลักนั้น ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากการไม่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสถาบันการเงินอย่างธนาคาร ทำให้ตรวจสอบร่องรอยได้ยาก แต่ในทางกลับกัน ก็ทำให้การบันทึกรายการทางบัญชียากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยว่ารายได้และรายจ่ายไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะในยุคนี้ที่รายการต่าง ๆ มักจะผ่านการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น โอนเงิน รับเงิน สแกน มากกว่าการรับเงินสด นั่นแปลว่ายิ่งธุรกิจมีรายการเหล่านี้มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น
      2. การแสดงยอดสินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง นักบัญชีทุกท่านทราบกันดีว่า การบันทึกสินค้าคงเหลือที่ไม่ถูกต้องโดยมีจำนวนสินค้าที่ขาดหรือเกินกว่าความเป็นจริง จะส่งผลให้การแสดงรายได้และต้นทุนไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ถ้าเรามองไปยังเหตุจูงใจของเรื่องนี้ จะพบว่าทำเพื่อให้กิจการแสดงรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือรายจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
      โดยปกติแล้ว ความผิดพลาดจะตรวจสอบพบได้ง่ายมากผ่านการตรวจสอบและนับสินค้าคงเหลือ แต่ปัญหาก็คือ กิจการได้ตรวจสอบจริงหรือไม่ หรือสุดท้ายกลายเป็นสรรพากรมาตรวจสอบแทน อันนี้ก็อาจจะเป็นประเด็นในภายหลังได้
      3. จำนวนทรัพย์สินไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จำนวนทรัพย์สินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น ทรัพย์สินในบัญชีมีมากกว่าที่กิจการมีอยู่จริง หรือไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลยทั้งที่ควรมี ส่งผลกระทบต่อการบันทึกรายการที่ไม่ถูกต้อง และเป็นข้อสงสัยเมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบต่อว่าเหตุดังกล่าวเป็นการจงใจบันทึกรายจ่าย (ผ่านค่าเสื่อมราคา) มากกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตกแต่งรายจ่ายหรือการสร้างรายจ่ายเท็จตามไปด้วย
      4. การกู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชี้แจงได้ รายการนี้มักจะมาควบคู่กับการแสดงผลประกอบการที่ขาดทุนหรือมีขาดทุนสะสมเป็นระยะเวลานาน แต่ในขณะเดียวกันมีรายการเงินกู้ยืมให้แก่กรรมการจำนวนมากที่ไม่สามารถชี้แจงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลในการประกอบธุรกิจ ซึ่งถ้าหากพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินจริง ก็มักจะถูกตั้งประเด็นว่าเป็นการหลบเลี่ยงรายได้ของธุรกิจผ่านการใช้บัญชีเจ้าหนี้กรรมการหรือเงินกู้ยืมเป็นตัวกลางแทน
      5. ขาดทุนสะสมติดต่อกันเป็นเวลานาน (โดยไม่มีสาเหตุ) การมีขาดทุนสะสมติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร ซึ่งถ้าหากกิจการชี้แจงไม่ได้หรือไม่พบเหตุผลที่เหมาะสมสำหรับการขาดทุนดังกล่าว ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุที่ทำให้สงสัยว่ากิจการมีการหลบเลี่ยงภาษีได้เช่นเดียวกัน

      ส่วนประเด็นที่ 6. การบันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง, 7. การบันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน, 8. ค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่รายได้ลดลง, 9. การบันทึกค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ และ 10. การสร้างรายจ่ายที่เป็นเท็จ ติดตามต่อในเล่ม


  จากบทความ : 10 ประเด็นความเสี่ยงในงบการเงินที่ต้องระวัง โดย : TAX Bugnoms / Section :
Tax Talk / Column : Tax Knowledge อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...
วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 247 เดือนกรกฎาคม 2567

 
 
FaLang translation system by Faboba