|
แนวทางการออกแบบระบบบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ สำหรับมิลเลนเนียล และ Gen Z
|
มิลเลนเนียล และ Gen Z เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว พวกเขามักจะมุ่งมั่นหาความหมายและความพึงพอใจในอาชีพการงาน รวมถึงการมีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ดังนั้น การเสนอสวัสดิการที่ครอบคลุม โอกาสในการพัฒนาอาชีพ การสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ นโยบายที่เอื้อต่อการทำงานจากที่บ้าน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กร เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ ตัวอย่างค่าตอบแทนที่ควรจัดให้มี ถ้าองค์กรมีพนักงานมิลเลนเนียล และ Gen Z จำนวนมาก • โบนัสตามผลการทำงาน บริษัทหลายแห่งให้โบนัสประจำปี หรือโบนัสตามผลการทำงานเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงาน และสร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในความสำเร็จของบริษัท แต่ก็ต้องมีการบริหารผลงานกันอย่างจริงจัง และมีระบบในการบ่งชี้ผลงานของพนักงานได้อย่างชัดเจน ใครทำผลงานได้ดีมาก ก็ได้โบนัสมาก • Employee Stock Options สิทธิในการซื้อหุ้นของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าตลาด ทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ดังนั้น ถ้าองค์กรใดสามารถที่จะให้หุ้น หรือให้สิทธิซื้อหุ้นแก่พนักงานที่เป็นคนเก่งขององค์กรได้ ก็จะยิ่งดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานได้มากขึ้น • ค่าตอบแทนตามทักษะและการพัฒนาอาชีพ บริษัทบางแห่งจะมีระบบค่าตอบแทนที่ปรับตามทักษะ และระดับการพัฒนาของพนักงาน เช่น การจ่ายเงินเพิ่มสำหรับพนักงานที่ได้รับใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือบางองค์กรก็จะมีการจัดลำดับความยากง่ายของทักษะที่ต้องใช้ และถ้าพนักงานสามารถแสดงความสามารถและแสดงทักษะดังกล่าวได้ องค์กรก็เพิ่มฐานเงินเดือนในส่วนนี้ให้มากขึ้นไปด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างสวัสดิการที่ควรจัดให้มี ถ้าองค์กรมีพนักงานมิลเลนเนียล และ Gen Z จำนวนมาก • ความยืดหยุ่นในการทำงาน ได้แก่ การทำงานแบบไฮบริด และนโยบายการทำงานจากที่บ้านเต็มเวลา หรือถ้าทำงานที่บ้านไม่ได้ด้วยสภาพการทำงาน ก็ให้มีความยืดหยุ่นด้านเวลาการทำงานมากขึ้นได้ การหยุด การลาที่มีความยืดหยุ่นตามความจำเป็นของพนักงาน • สวัสดิการด้านสุขภาพและสุขภาพจิต การให้ประกันสุขภาพครอบคลุม โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต การเข้าถึงบริการปรึกษาสุขภาพจิต การสร้างห้องพักผ่อนหย่อนใจในที่ทำงาน และการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ส่งเสริมความแข็งแรงทางด้านจิตใจ • การสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ โอกาสในการเข้าถึงการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ ทุนการศึกษา และโปรแกรมการสอนงาน (Mentoring) ที่ช่วยให้พนักงานเติบโตในแง่มุมทางวิชาชีพและส่วนบุคคล • สวัสดิการด้านการเดินทางและความยืดหยุ่น ให้สวัสดิการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าเดินทาง หรือการจัดหายานพาหนะสำหรับการเดินทางไปและกลับจากที่ทำงาน • สวัสดิการส่งเสริม Well-Being ของพนักงาน บางองค์กรให้งบประมาณสวัสดิการเป็นมูลค่าตัวเงิน ให้พนักงานสามารถใช้เงินก้อนนี้ในการเข้าถึงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ เช่น ให้สิทธิในการนำเงินสวัสดิการตามสิทธินี้ไปซื้อแพ็กเกจการออกกำลังกาย หรือเรียนโยคะ หรือการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้น
บางส่วนจากบทความ : แนวทางการออกแบบระบบบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ สำหรับมิลเลนเนียล และ Gen Z โดย : ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร / Section : HRM/HRD / Column : ครบเครื่องเรื่องค่าตอบแทน อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่... วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 259 เดือนกรกฎาคม 2567
|
|