ทำความรู้จัก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
โดย
 |
|
ทำความรู้จัก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
|
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่าง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” แล้ว หลังจากเส้นทางการเตรียมการเสนอยกร่างกันมายาวนานกว่า 20 ปี ถือเป็นการเริ่มต้นของความเท่าเทียมทางกฎหมายที่จะทำให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกเพศ แต่นอกเหนือจากความเท่าเทียมและความเสมอภาคที่ประชาชนทุกเพศจะได้รับแล้ว เราจะมาทำความเข้าใจร่างกฎหมายฉบับนี้ให้มากขึ้น เพื่อการเตรียมความพร้อมกับผลบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ ร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่เป็นการออกกฎหมายที่ชื่อว่า “พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม” โดยตรง แต่เป็นการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานในการสร้างสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคลภายใต้บรรพ 5 ครอบครัว ลักษณะ 1 การสมรส ซึ่งแบ่งออกเป็นหมวดย่อยดังนี้ การหมั้น เงื่อนไขแห่งการสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ความเป็นโมฆะของการสมรส และการสิ้นสุดการสมรส ทั้งนี้ ข้อจำกัดที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับปัจจุบันสร้างขึ้น ซึ่งขัดกับหลักการการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศคือ การจำกัดความสัมพันธ์คู่สมรสตามกฎหมายไว้เพียง ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 1448 กำหนดชัดเจนว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว” นอกจากนี้ ตลอดเนื้อหาและเงื่อนไขในบรรพ 5 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเนื้อหาการสมรสโดยระบุเพศเป็น ชายและหญิง ทั้งหมด ด้วยการนิยามศัพท์และการกำหนดเงื่อนไขจำกัดเพศของคู่สมรสหรือสามีภริยาดังกล่าว ทำให้สรุปได้ว่าภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับปัจจุบัน คู่สมรสที่จะมีสิทธิเป็นสามีภริยาตามกฎหมายต้องเป็นชายฝ่ายหนึ่งและหญิงฝ่ายหนึ่งเท่านั้น บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันไม่ได้ ด้วยเหตุที่การเป็นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถูกกำหนดจำกัดไว้เพียงการสมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นคู่ชีวิต ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการเป็นหญิงหรือชาย ไม่อยู่ในฐานะ “คู่สมรสตามกฎหมาย” จึงส่งผลต่อเนื่องทำให้คู่รักดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิที่พึงได้ในฐานะคู่สมรสตามกฎหมายของกันและกัน ดังนั้นจุดประสงค์หลักของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งในร่างฉบับปัจจุบันมีทั้งหมด 69 มาตรา จึงมีจุดประสงค์ไปแก้ไขปลดล็อคข้อจำกัดภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยตรง คือ การสร้างความเท่าเทียมและเสรีภาพให้ทุกเพศสามารถสมรสกันได้ ด้วยการกำหนดให้บุคคลไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้เมื่อมีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและข้อจำกัดการเป็นคู่สมรสหรือสามีภริยา เป็นการสมรสระหว่าง “บุคคล” 2 ฝ่าย แทนที่จะเป็นการกำหนดเพศสภาพของบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีเป้าหมายหลักที่จะให้คู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายดังกล่าวมีสิทธิเช่นเดียวกับที่คู่สมรสพึงมี สำหรับสถานะปัจจุบัน ร่างกฎหมายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้เทนราษฎรทั้ง 3 วาระครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนต่อไป ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาอีก 3 วาระ เพื่อปรับปรุงรายละเอียดเนื้อหา โดยในเบื้องต้นจะมีการบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ในช่วงเปิดประชุมวิสามัญรัฐสภา ซึ่งภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการปัดตกร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว วุฒิสภาทำได้เพียงส่งร่างกลับไปสภาผู้แทนราษฏรเพื่อทบทวน ซึ่งจะมีผลยับยั้งกฎหมายไว้ 180 วัน หรือหากแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีการตั้งกรรมาธิการระหว่าง 2 สภาเพื่อพิจารณาเท่านั้น และด้วยสถานะปัจจุบันร่างกฎหมายได้ผ่านการพิจารณาแล้ว
จากบทความ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกับเรื่องที่ผู้ประกอบการควรรู้” Section: Laws & News / Column: Business Lawอ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 514 เดือนกรกฎาคม 2567 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index
|
|
|
|
|
|