“การจัดทำบัญชี” และ “การจัดทำรายงานทางการเงิน”

โดย

 


 
“การจัดทำบัญชี” และ “การจัดทำรายงานทางการเงิน”


   

     วนมาอีกครั้งกับหน้าที่ประจำปีของชาวบัญชีเรา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดระหว่างนักบัญชี ผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี การดำเนินการในเรื่องขั้นตอนการจัดทำบัญชีเป็นจุดที่มีความสำคัญ และมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และมีความถูกต้อง ทั้งในแง่ของรายการค้าที่เกิดขึ้นแล้วและรายการทางการเงินที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและภาระผูกพันของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี (กิจการ) เพื่อจะได้ทำการรายงานข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบต่อกำไรขาดทุนสุทธิของกิจการได้อย่างถูกต้อง ตรงตามข้อเท็จจริง และสถานการณ์ความเสี่ยงของกิจการที่ได้ดำเนินการวางแผนกลยุทธ์มาโดยฝ่ายบริหารเพื่อที่จะได้วางแผนปรับตัวหรือพัฒนากระบวนการงานบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือล้มละลายได้ในอนาคต อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือตลาดสินค้าบริการ

     ทั้งนี้ เราจึงต้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชีและวัตถุประสงค์ของการรายงานข้อมูลทางการเงินเสียก่อน เพื่อจะได้เตรียมพร้อมจัดระบบงานและเพิ่มคุณค่าให้กับงานบัญชีได้อย่างแท้จริง

     การจัดทำบัญชี

     คือ การรวบรวมรายการค้าทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการซื้อ/ขายสินค้าหรือบริการระหว่างกันในห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ไม่ว่าในฐานะสินค้าหรือบริการต้นน้ำ ผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก หรือลูกค้า รวมถึงรายการทางบัญชีที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าเสื่อมราคา ภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมข้างต้น ตลอดจนภาษีเงินได้ เพื่อประมวลผลรายการค้าตามหลักการบัญชีเพื่อให้ได้ข้อมูลทางการเงินเบื้องต้นเกี่ยวกับฐานะการเงินและกำไรขาดทุนจากการดำเนินงาน ซึ่งเกิดขึ้นในขั้นตอนกระบวนการปิดบัญชี ไม่ว่าจะเป็นการปิดบัญชีประจำเดือนหรือปิดบัญชีประจำปี ซึ่งตรงนี้เราเรียกว่า “งบการเงินที่ได้จากการปิดบัญชีเบื้องต้น” งบการเงิน จึงประกอบด้วย 1. งบฐานะการเงิน 2. งบกำไรขาดทุน (หรืองบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ) 3. งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ 4. งบกระแสเงินสด และ 5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน

     การจัดทำรายงานทางการเงิน

     เป็นการนำเอาข้อมูลทางการค้าที่ได้มีการจัดทำและประมวลผลจากการจัดทำบัญชีแล้วมาเติมข้อมูลที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการคัดเลือกและใช้กลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจว่ามีผลต่อดี/ผลร้ายต่อฐานะการเงินและกำไรขาดทุนของกิจการอย่างไร รายงานทางการเงิน จึงหมายถึง กระบวนการสื่อสารข้อมูลทางการเงินซึ่งได้มาจากระบบการจัดทำบัญชี โดยมีงบการเงินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรายงานทางการเงิน ทั้งนี้ อาจมีข้อมูลอื่นนอกจากงบการเงินประกอบด้วย เช่น รายงานประจำปี หนังสือชี้ชวน เอกสารแจ้งข่าว ฯลฯ ดังนั้นหากเราจะเติมคุณค่าของข้อมูลที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่และวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ ก็สามารถเอาเหตุการณ์เหล่านั้นเข้ามารวมอยู่ในกระบวนการปิดบัญชีเพื่อได้งบการเงินที่เทียบเท่ารายงานทางการเงินของกิจการ

     โดยสรุป หากจะเปรียบงบการเงินให้เป็นเหมือนอาหารที่ถูกปรุงรสด้วยสูตรอาหารและเครื่องปรุงมาตรฐานที่ทำให้นักชิมได้ลิ้มลองรสชาติ ก็คงเปรียบเสมือนจานออร์เดิร์ฟ (Hors D'œuvre) เพื่อให้นักชิมได้อิ่มอร่อยกับเมนูเรียกน้ำย่อยจากรสมือของ Chef ผู้รังสรรค์จานอาหารให้น่าลิ้มลองและจดจำ และมีแรงบันดาลใจเพื่อจะได้มาลิ้มลองรสชาติจานถัด ๆ ไปอีก ซึ่งเปรียบเสมือนรายงานทางการเงินที่อ่านแล้วได้แนวทางในการคิดวิเคราะห์หาหนทางพัฒนาธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้า ไม่ต่างจากจานอาหารที่รสชาติเป็นหนึ่งเดียวในทุกครั้งที่มีการรังสรรค์ขึ้นมา

 

  จจากบทความ : Lesson Learned ปิดบัญชีฉบับมืออาชีพ
โดย : วิทยา เอกวิรุฬห์พร/ Section : Accounting Style / Column : CPD Talk
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 243 เดือนมีนาคม 2567

 
 

 

FaLang translation system by Faboba