โอนสิทธิความเป็นนายจ้าง กับการเปลี่ยนตัวนายจ้าง ความเหมือนที่แตกต่าง

โดย

 


 
โอนสิทธิความเป็นนายจ้าง กับการเปลี่ยนตัวนายจ้าง
ความเหมือนที่แตกต่าง


      ในบางครั้งเมื่อเกิดภาวะคนล้นงาน เกิดแรงงานส่วนเกิน นายจ้างจำเป็นต้องโอนลูกจ้างของตนไปเป็นลูกจ้างของบริษัทในเครือหรือคู่ค้า อาจต้องขายกิจการบางส่วนให้แก่บุคคลอื่น หรือต้องควบรวมกิจการของตนกับนิติบุคคลอื่น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ ฯลฯ

      การดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวนายจ้าง จากที่ลูกจ้างเคยทำงานกับนายจ้างคนหนึ่ง แต่จะต้องไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่ กฎหมายแรงงานได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างไว้ใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ “การโอนสิทธิความเป็นนายจ้าง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 14/1 และ “การ เปลี่ยนตัวนายจ้าง” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 13 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. การโอนสิทธิความเป็นลูกจ้าง

      ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 บัญญัติว่า “นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

      ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้ เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย

      ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

      เนื่องจากคู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงาน อันได้แก่ นายจ้างกับลูกจ้าง ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญา การที่ลูกจ้างเลือกที่จะทำงานกับนายจ้างคนใด โดยทั่วไปย่อมคำนึงถึงค่าจ้าง ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์จากการทำงาน สภาพการจ้าง รวมถึงความมั่นคงในการทำงาน ดังนั้น เมื่อนายจ้างกับลูกจ้างตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานแก่กันแล้ว ลูกจ้างจะโอนสิทธิความเป็นลูกจ้างของตนให้บุคคลอื่นมาทำงานเป็นลูกจ้างแทนไม่ได้ ยกเว้นแต่นายจ้างยินยอม นายจ้างเองก็จะโอนสิทธิความเป็นนายจ้างของตนให้แก่บุคคลภายนอกฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างไม่ได้ดุจกัน

  1. เปลี่ยนตัวนายจ้าง

      พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทําให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ”

      กรณีเปลี่ยนตัวนายจ้างตามมาตรา 13 เป็นเรื่องที่นายจ้างถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ลูกจ้างเคยทำงานกับนายจ้างคนหนึ่งแต่ต้องเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล

      การเปลี่ยนตัวนายจ้างอาจเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างนิติบุคคลหนึ่งกับอีกนิติบุคคลหนึ่งก็ได้ ก่อให้เกิดนายจ้างใหม่ได้เช่นกัน

      กล่าวโดยสรุปก็คือ การโอนสิทธิความเป็นนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคหนึ่ง กับกรณีเปลี่ยนตัวนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 13 มีความคล้ายกันแต่ก็แตกต่างกัน

 

  บางส่วนจากบทความ : โอนสิทธิความเป็นนายจ้าง กับการเปลี่ยนตัวนายจ้าง ความเหมือนที่แตกต่าง
โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 255 เดือนมีนาคม 2567

 
 
FaLang translation system by Faboba