เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt

โดย

 


 
เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt

 

       * เป็นสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับ “บุคคลธรรมดา” ที่ไม่ใช่ “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล” ที่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท

       * โดยกำหนดสินค้าและบริการที่ซื้อแล้วใช้สิทธิ์ได้มี 3 กลุ่ม นั่นคือ
              1. 
สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบ VAT
               
2. 
หนังสือและอีบุ๊ก (รวมหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน)
              3. 
สินค้าท้องถิ่น OTOP (ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมพัฒนาชุมชน)
       ส่วนสินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ คือ รายการต่อไปนี้
              
🚫 ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ ค่ายาสูบ
              
🚫 ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
              
🚫 ค่าน้ำมันและก็าซสำหรับเติมยานพาหนะ
              
🚫 ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
              
🚫ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
               🚫 ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

       นอกจากนั้นยังหมายความรวมถึง สินค้าและบริการที่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เช่นเดียวกัน ยกเว้นแต่หนังสือและอีบุ๊ก (รวมหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน) และสินค้าท้องถิ่น OTOP (ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง) ที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ตามที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ครับ

       สำหรับหลักฐานที่ใช้ต้องเป็น “ใบกำกับภาษี” หรือ “ใบรับอิเล็กทรอนิกส์” เท่านั้น ไม่สามารถใช้เอกสารแบบกระดาษได้ ซึ่งข้อสังเกตสำคัญของเอกสารเป็นแบบนี้ครับ

       * กรณี e-Tax Invoice & e-Receipt โดยปกติจะได้รับเป็นไฟล์ PDF ผ่าน e-Mail/ SMS หรือได้รับในรูปแบบกระดาษก็ได้ (ผู้ขายพิมพ์ออกมาให้) แต่ข้อสังเกตในใบกำกับภาษีที่ได้รับในกรณีนี้ (หากพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษให้กับผู้ซื้อ) ต้องมีคำว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” และมักจะมีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) อยู่ในนั้นด้วย ลองสังเกตดูนะครับ

        * e-Tax Invoice by e-Mail/ e-Tax Invoice by Time Stamp เป็นใบกำกับภาษีสำหรับกิจการขนาดเล็ก และถือว่าเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน โดยเราจะได้รับใบกำกับภาษีประเภทนี้ในรูปแบบ PDF ผ่าน e-Mail ของเรา (ผู้ขายส่งให้) และเราจะต้องได้รับอีเมลอีกฉบับจากทาง ETDA (http://etax.teda.th) ที่มีหัวข้อว่า “ประทับรับรองทางเวลาเรียบร้อย” และมีรหัสเอกสารต่อท้าย เพื่อยืนยันว่าระบบได้ทำการประทับรับรองเวลาให้กับเอกสารแนบแล้วครับ

       ทั้งนี้ แนวทางคำถามคำตอบล่าสุดเกี่ยวกับกรณีนี้จากทางกรมสรรพากรแจ้งว่า เราสามารถใช้ข้อมูล e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้เลย (โดยไม่จำเป็นต้องเก็บกระดาษไว้) และเจ้าหน้าที่สรรพากรจะไม่ขอให้ส่งใบกำกับภาษีอีกหากมีข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรอยู่แล้วครับ

       แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำงานด้านบัญชีและภาษีแบบผม ก็ขอเตือนว่าควรเก็บไฟล์ไว้ (หากได้รับทางอีเมล) หรือถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน (ในกรณีที่ได้รับ e-Tax รูปแบบกระดาษ) เพื่อใช้ในการตรวจสอบและยื่นภาษีปีหน้าอยู่ดีครับ

  จากบทความ : สรุปประเด็น Easy e-Receipt และสิ่งที่นักบัญชีควรรู้
โดย : TAX Bugnoms/ Section : Tax Talk / Column : Tax Knowledge
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 242 เดือนกุมภาพันธ์ 2567

 
 
 
FaLang translation system by Faboba