3 กลยุทธ์บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

โดย

 


 
3 กลยุทธ์บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา


      จากกรอบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กฎหมายประเทศไทย จะเห็นได้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กฎหมายประเภทต่าง ๆ ของผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้สินค้าบริการที่ผู้ประกอบการได้ลงทุนและลงแรงสร้างสรรค์ขึ้นได้รับการคุ้มครองสูงสุดภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อการบริหารจัดการสิทธิดังกล่าว จึงขอนำเสนอ 3 กลยุทธ์ที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาดำเนินการดังนี้

      (1) ผู้ประกอบการควรประเมินสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้ชัดเจนก่อนว่า สินค้าหรือบริการของตนจะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดบ้าง และเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ผู้ประกอบการต้องดำเนินการอย่างไร เช่น ต้องจดทะเบียนหรือไม่ การจดทะเบียนนั้นมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอย่างไร เพื่อรับประกันว่า เมื่อนำเสนอสินค้าและบริการดังกล่าวไปสู่ตลาดแล้วจะไม่ถูกบุคคลอื่นมาละเมิด ทั้งนี้ สินค้าหรือบริการหนึ่งอาจได้รับการคุ้มครองภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า 1 ประเภทก็ได้ ดังนั้นต้องพิจารณาแยกส่วนการคุ้มครองดังกล่าวให้ได้เพื่อการคุ้มครองสูงสุด

      (2) ผู้ประกอบการควรวางแผนกลยุทธ์การจดทะเบียนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้คุ้มค่า ด้วยลักษณะเฉพาะของทรัพย์สินทางปัญญาที่จะให้ความคุ้มครองเฉพาะประเทศที่มีการจดทะเบียนเป็นหลัก (Territorial) เท่านั้น หากจะมีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการนอกประเทศหรือจะมีการจ้างต่างประเทศผลิตสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบการควรวางแผนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมในทุกประเทศที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าหรือบริการดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องศึกษากฎหมายเฉพาะของแต่ละประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อการวางแผนกลยุทธ์การจดทะเบียนที่คุ้มกับค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการดำเนินการสูงสุด

      (3) วางแผนการใช้ประโยชน์สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Commercialization) ให้ได้หลากหลายเต็มประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา คือ การที่ทรัพย์สินทางปัญญานั้นสามารถแยกสิทธิในการใช้ประโยชน์ได้ โดยอาจแยกเป็นสิทธิการทำซ้ำ การทำสำเนา การเผยแพร่ จากกัน และสามารถให้สิทธิแก่บุคคลมากกว่า 1 คน เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมในทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นได้ ผู้ประกอบการจึงสามารถเลือกวางแผนใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาได้ในหลายรูปแบบ โดยอาจแบ่งเป็นการโอนสิทธิโดยสมบูรณ์ (Assignment) หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) โดยเฉพาะสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญายังสามารถกำหนดเงื่อนไขการอนุญาต กรอบระยะเวลา พื้นที่ และประเภทการใช้งานสิทธิดังกล่าวเป็นการเฉพาะได้หลากหลายอีกด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการที่วางแผนการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาได้หลากหลายที่สุด ย่อมสร้างแหล่งรายได้และมูลค่าจากทรัพย์สินทางปัญญาได้สูงสุดเช่นกัน

 

จากบทความ “กลยุทธ์บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา”
Section: Laws & News / Column: Business Law อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...
วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 508 เดือนมกราคม 2567 หรือสมัครสมาชิก
“วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
 
FaLang translation system by Faboba