โครงสร้างค่าจ้างที่ดี ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
โดย
|
|
โครงสร้างค่าจ้างที่ดี ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
|
1. ค่าตอบแทนพื้นฐาน ซึ่งก็คือ เงินเดือนที่เราจ่ายให้พนักงานทุกเดือน เรียกว่า โครงสร้างเงินเดือน ถือเป็นค่าตอบแทนตัวแรกสุดที่พนักงานจะตัดสินใจ เป็นตัวที่สื่อสารให้พนักงานทราบว่าองค์กรมีนโยบายในเรื่องเงินเดือนอย่างไร และเป็นสิ่งที่ฝ่ายบุคคลและผู้บริหารต่างก็ให้ความสำคัญ เวลาออกแบบเงินเดือนให้เป็นระบบ ก็ต้องมีเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนขึ้นมา องค์กรที่มีโครงสร้างเงินเดือนที่ดี แข่งขันได้ แปลว่ามีองค์กรประกอบของค่าตอบแทนตัวแรกสมบูรณ์ ในการออกแบบค่าตอบแทนพื้นฐานขององค์กร ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราจะมีค่าตอบแทนพื้นฐานขององค์กรเรากี่ประเภท ซึ่งเราสามารถออกแบบระบบค่าตอบแทนพื้นฐาน หรือโครงสร้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับแนวทางในการจ้างงานของพนักงานแต่ละกลุ่มได้ โดยเฉพาะพนักงานขายที่ได้รับค่าคอมมิชชันเป็นหลัก เราจะต้องออกแบบโครงสร้างเงินเดือนมูลฐานตัวนี้ให้แตกต่างจากกลุ่มพนักงานอื่นๆ เพราะด้วยหน้าที่การขาย เราให้ค่าตอบแทนเพื่อกระตุ้นยอดขาย ดังนั้น เงินเดือนมูลฐานของกลุ่มพนักงานขายก็มักจะไม่เยอะ ให้เพื่อที่จะเป็นการการันตีพื้นฐานอย่างต่ำแต่ละเดือน นอกนั้นต้องไปสร้างยอดขายให้ได้ตามเป้าหมาย จึงจะได้ค่าคอมมิชชัน 2. ค่าตอบแทนจูงใจระยะสั้น หรือค่าตอบแทนเสริมอื่น เนื่องจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจูงใจให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อองค์กรต้องการกระตุ้นผลงานที่ดีขึ้น ก็ต้องมีเครื่องมือทางด้านค่าตอบแทนเข้ามาเสริม เงินจูงใจระยะสั้นที่รู้จักและนิยมให้กันมากที่สุด คือ โบนัสตามผลงาน ซึ่งในการออกแบบเงินจูงใจก้อนนี้ จะต้องมีการผูกระบบผลงานเข้ามาด้วย ใครทำผลงานได้ดี ก็จะได้เงินจูงใจในส่วนนี้มากกว่า เป็นต้น นอกจากโบนัสแล้ว ปัจจุบันก็มีการออกแบบระบบ Incentive คือ เงินที่ผูกกับผลลัพธ์ของงานโดยตรง สำหรับบางหน่วยงานที่เราต้องการมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม ก็สามารถออกแบบ Incentive เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานได้อีกเช่นกัน นอกจากโบนัส และ Incentive แล้ว เราสามารถออกแบบโครงสร้างค่าตอบแทนอื่นๆ ในส่วนนี้ เพื่อตอบโจทย์การทำงานของพนักงานในแต่ละกลุ่มได้อีกด้วย เช่น เบี้ยขยัน สำหรับพนักงานปฏิบัติการที่ต้องการให้พนักงานมาทำงานตรงเวลา ไม่ขาด ไม่ลา ไม่สาย หรือกำหนดเป็นค่าตำแหน่งสำหรับระดับบริหารในตำแหน่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นจูงใจให้เขารับผิดชอบในการบริหารงานและบริหารคน รวมทั้งผลลัพธ์ของหน่วยงานที่เขาดูแลให้สำเร็จ 3. ค่าตอบแทนความยากลำบาก (Hardship Allowance) ค่าตอบแทนในส่วนนี้มักจะให้เฉพาะงานบางงานเท่านั้น เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ร้อน หนาว ฝุ่นเยอะ ต้องใกล้ชิดกับสารเคมีอันตราย มีกลิ่นเหม็น ฯลฯ สำหรับบางตำแหน่งที่ต้องออกเดินทางไปทำงานนอกบริษัท ทำให้พนักงานต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางนอกเหนือจากการเดินทางมาทำงานที่บริษัทแล้ว เราก็สามารถกำหนดเป็นเบี้ยเลี้ยงสำหรับการทำงานนอกสถานที่ก็ได้ ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้ที่จะได้เบี้ยเลี้ยงคือใคร ต้องทำงานอะไร แบบไหน ถึงจะมีสิทธิได้ ซึ่งเบี้ยเลี้ยงที่ให้ก็ถือเป็นเงินช่วยเหลือสำหรับการทำงานเพิ่มเติมในกรณีพิเศษ จะไม่ถือเป็นค่าจ้าง โดยสรุปแล้ว โครงสร้างค่าจ้างที่ดี จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. ค่าจ้างมูลฐาน คือ ค่าแรง หรือเงินเดือน ที่เป็นเงินคงที่ประจำ 2. ค่าจ้างเสริมอื่น ให้เพื่อตอบแทนการทำงาน มุ่งเน้นไปที่การสร้างแรงจูงใจในการทำผลงานบางอย่าง 3. ค่าตอบแทนความยากลำบาก ให้เพื่อตอบแทนที่ต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ลำบาก และเสี่ยง
บางส่วนจากบทความ : “โครงสร้างค่าตอบแทนที่ดี ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง” โดย : อ.ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร / Section : HRM/HRD / Column : ครบเครื่องเรื่องค่าตอบแทน อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 21 ฉบับที่ 251 เดือนพฤศจิกายน 2566
|
|
|
|
|
|
|
|