ปัญหาอากรแสตมป์
โดย
|
เพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับอากรแสตมป์เป็นไปโดยครบถ้วนยิ่งขึ้น จึงขอนำประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอากรแสตมป์ มาเป็นตัวอย่างในการศึกษาเพิ่มเติมดังนี้
ตัวอย่างที่ 1 บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างทำของ โดยทำสัญญาจ้างทำของกับลูกค้า 2 กรณี คือ (1) ระบุมูลค่างานและภาษีมูลค่าเพิ่มแยกออกจากกัน โดยบริษัทฯ ปิดอากรแสตมป์ในสัญญา คำนวณจากมูลค่างาน ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (2) รวมมูลค่างานและภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วยกัน โดยบริษัทฯ ปิดอากรแสตมป์ในสัญญา โดยคำนวณจากมูลค่างานที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ บริษัทฯ ขอหารือว่า การปิดอากรแสตมป์ในต้นฉบับสัญญาจ้างทำของของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย สัญญาจ้างทำของเป็นตราสารตามลักษณะแห่งตราสาร 4. รับจ้างทำของแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้รับจ้างต้องเสียอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมคำนวณด้วย (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811(กม)/464 ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2541)
ตัวอย่างที่ 2 บริษัท อ. ประกอบกิจการให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหนักทุกประเภท แต่ในบางกรณี บริษัทฯ จะรับจ้างทำงานโดยไม่มีการทำสัญญาใด ๆ เพราะไม่สามารถคำนวณราคางานได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ และเมื่องานแล้วเสร็จ บริษัทฯ จะคำนวณราคาค่าจ้างโดยผู้ว่าจ้างจะต่อรองราคากัน บริษัทฯ จะออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินตามราคาที่ตกลงกัน เมื่อผู้ว่าจ้างจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้ ผู้ว่าจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ว่าจ้าง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การดำเนินการดังกล่าวมีภาระเกี่ยวกับอากรแสตมป์สำหรับการรับจ้างหรือไม่
แนววินิจฉัย กรณีผู้รับจ้างตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้างมิได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ คงมีเพียงใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินตามราคาที่ตกลงกัน ใบแจ้งหนี้ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/9301ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
จากบทความ “โครงสร้างกฎหมายอากรแสตมป์” Section: Tax Talk / Column: Tax Practice อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 506 เดือนพฤศจิกายน 2566 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index
|
|
|
|
|
|
|
|