6 สาเหตุอย่าทำ! ถ้าไม่อยากถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าชดเชย และไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน
โดย
|
|
6 สาเหตุอย่าทำ! ถ้าไม่อยากถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าชดเชย และไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน
|
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง จะมากน้อยเพียงใดก็ว่ากันตามสิทธิของลูกจ้างแต่ละคนตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่จะตกลงกันโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการที่หากลูกจ้างกระทำจนเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างจะไม่สามารถเรียกร้องเงินค่าชดเชยและเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้ 1. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เมื่อลูกจ้างกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ย่อมเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยและเงินทดแทนฯ ได้ โดยการกระทำการ “ทุจริต” นั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ และไม่ได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) ดังนั้น จึงต้องให้ความหมายว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ชื่อตรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ลูกจ้างกระทำการโกงเงิน ยักยอกเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อไปเป็นของตัวเอง เป็นต้น
2. จงใจทำให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย ในบางครั้ง ลูกจ้างอาจกระทำการต่างๆ โดยความตั้งใจ หรือเจตนาที่จะให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อาจด้วยความรู้สึกโกรธเคืองนายจ้าง หรือทำไปเพราะเข้าใจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายของนายจ้างไม่ใช่ของตน กรณีเช่นนี้นายจ้างถือว่าเข้าข่ายจงใจทำให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย และสามารถบอกเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด
3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง ความประมาทเลินเล่อ หมายถึง กระทำลงไปโดยขาดความระมัดระวัง หรือละเลยในสิ่งที่ควรกระทำ แล้วผลแห่งการกระทำนั้นส่งผลให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งที่สามารถคาดการณ์เห็นได้ชัดว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น กรณีเช่นนี้อาจเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยและเงินทดแทนฯ ได้
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบการทำงานอย่างร้ายแรง ทุกๆ สถานที่ทำงานย่อมต้องมีกฎเกณฑ์ มีข้อบังคับ มีระเบียบการทำงานที่ลูกจ้างทุกคนตกลงที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตั้งแต่เริ่มทำงาน ดังนั้น หากลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนหรือทำผิดระเบียบอย่างร้ายแรง หรือกระทำความผิดซ้ำๆ แม้ได้รับจดหมายตักเตือนแล้ว นายจ้างก็มีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
5. ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 3 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุอันควร การที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่แจ้งลา ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่สามารถติดต่อได้ต่อเนื่อง 3 วันทำงาน เป็นเหตุทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย โดยไม่มีเหตุผลอธิบายการละทิ้งหน้าที่อย่างสมเหตุสมผลมากพอ กรณีนี้ถือว่าเข้าข่ายที่จะถูกเลิกจ้างได้โดยไม่ได้รับสิทธิชดเชยใดๆ
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หากลูกจ้างคนใดต้องโทษจำคุก ย่อมต้องทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์องค์กรนายจ้างอย่างมาก แต่ทั้งนี้ กรณีที่ลูกจ้างจะต้องถูกเลิกจ้างและจะไม่ได้รับค่าชดเชยและเงินทดแทนฯ กรณีสุดท้ายนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้าง “ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด” แล้วเท่านั้น
บางส่วนจากบทความ : “6 สาเหตุอย่าทำ ถ้าไม่อยากถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าชดเชย และไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน” โดย : ณัฐวุฒิ แสงเสวตร Section : กฎหมายแรงงาน / Column : เรื่องข้นคน HR อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 21 ฉบับที่ 250 เดือนตุลาคม 2566
|
|
|
|
|
|