รูปแบบของกิจการร่วมค้า

โดย

 


 
รูปแบบของกิจการร่วมค้า

    กิจการร่วมค้า แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
    1. กิจการร่วมค้าที่ไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Un-Incorporated Joint Venture)
    “กิจการร่วมค้า” อยู่ในคำจำกัดความของคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 แม้ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ กิจการร่วมค้าก็อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นหน่วยภาษี (Tax Entity) แยกต่างหากจากผู้เข้าร่วมค้า
    ดังนั้นกิจการร่วมค้าที่ไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่จึงมีหน้าที่ยื่นคำขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสีย ภาษีอากรกับกรมสรรพากร (หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค 0706/12698 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2546) โดยต้องจัดทำหนังสือสัญญาเข้าร่วมค้า (Joint Venture Agreement) ปิดอากรแสตมป์ 100 บาท (สัญญาเข้าร่วมค้ามีลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนตามความในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายประมวลรัษฎากร ลักษณะที่ 27 (ก) เป็นหุ้นส่วนมีหน้าที่เสียอากรแสตมป์และมีหน้าที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์) พร้อมกับหลักฐานของผู้เข้าร่วมค้า เช่น ผู้เข้าร่วมค้าที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจ ส่วนกรณีผู้เข้าร่วมค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาให้ใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน และให้กิจการร่วมค้ายื่นคำขอตามแบบฟอร์ม ล.ป.10.3 คำร้องขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร/แก้ไขรายละเอียดผู้เสียภาษีประเภทนิติบุคคล
    กิจการร่วมค้าที่ไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Un-Incorporated Joint Venture) แม้ไม่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ก็ถือว่ากิจการร่วมค้านั้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องทำบัญชีและงบการเงินแยกต่างหากจากผู้เข้าร่วมค้า ดังนั้นกิจการร่วมค้าซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่จึงต้องเสียภาษีในนามของกิจการร่วมค้าซึ่งถือเป็นบริษัทใหม่ตามประมวลรัษฎากร และจัดทำบัญชีและงบการเงินเหมือนกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป
    นอกจากนี้ ถ้ากิจการร่วมค้ามีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนและขอมีเลขประจำตัวผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

    2 กิจการร่วมค้าที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Incorporated Joint Venture)
    ผู้เข้าร่วมค้าร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้าเป็นบริษัทใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมค้าแต่ละรายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทกิจการร่วมค้า เช่น บริษัท ก. จำกัด และบริษัท ข. จำกัด เข้าร่วมค้ากัน และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อบริษัท กข. จำกัด โดยมีบริษัท ก. จำกัด และบริษัท ข. จำกัด ถือหุ้นอยู่ในบริษัท กข. จำกัด ถือว่าบริษัท กข. จำกัด เป็นกิจการร่วมค้าประเภทที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Incorporated Joint Venture) ต้องจัดทำบัญชีและงบการเงินแยกต่างหากจากบริษัท ก. จำกัด และบริษัท ข. จำกัด และยื่นแบบเสียภาษีในนามของบริษัท กข. จำกัด โดยใช้เลขทะเบียนพาณิชย์ที่กระทรวงพาณิชย์ออกให้ และกรณีบริษัท กข. จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องจดทะเบียนและขอมีเลขประจำตัวผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

 

  จากบทความ “กิจการร่วมค้ากับการโอนกิจการบางส่วน”
  Section: Tax Talk / Column: Tax Planning
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 505 เดือนตุลาคม 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba